เครือข่ายงดเหล้าร้อง “บิ๊กตู่” ออกมาตรการห้ามขาย “น้ำเมา” ในงานคอนเสิร์ต - อีเวนต์ ช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ ยกเลิกออกใบอนุญาตขายชั่วคราว หลังพบสงกรานต์แต่ละปีขายโจ๋งครึ่ม ไม่สนกฎหมาย ทำคนตายจากเมาแล้วขับสูงปรี๊ด แนะปรับบทลงโทษเมาแล้วขับ แอลกอฮอล์ต้องไม่เกิน 20 มก.
วันนี้ (23 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) พร้อมด้วย เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กว่า 50 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ออกมาตรการเข้มรับมือช่วงสงกรานต์ ปรับบทลงโทษเมาแล้วขับ รวมถึงห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานคอนเสิร์ตและงานอีเวนต์ต่างๆ ช่วง 7 วันอันตราย เนื่องจากส่งผลกระทบทำให้เกิดอุบัติเหตุเจ็บตาย
นายคำรณ กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลทุกเทศกาล สะท้อนจากข้อมูล 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 พบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นสูงถึง 3,447 ครั้ง ทำให้เสียชีวิต 442 ราย บาดเจ็บอีก 3,656 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ สาเหตุอันดับหนึ่งยังคงเป็นการเมาสุรา รองลงมา ขับรถเร็วเกินกำหนด ทั้งนี้ จากที่เครือข่ายฯได้เฝ้าระวังและรวบรวมข้อมูล พบว่า ในช่วงสงกรานต์ของทุกๆ ปี จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดงานอีเวนต์ต่างๆ งานคอนเสิร์ต กว่า 1,000 จุดทั่วประเทศ มีคนเข้าร่วมงานในแต่ละงานตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นคน ที่สำคัญมีการขายเหล้าเบียร์กันอย่างโจ๋งครึ่มส่งเสริมการขายโดยไม่สนใจกฎหมาย และเมื่อจบงานผู้คนส่วนใหญ่ที่ตกอยู่ในสภาพมึนเมา ก็จะออกสู่ท้องถนน กลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกกันทุกปีคือเมาแล้วขับ และไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับรถ ในขณะที่แทบทุกงานที่มีน้ำเมา มักจะมีปัญหาการทะเลาะวิวาท ตีรันฟันแทง บาดเจ็บเสียชีวิต ฯลฯ ตามมาอีกไม่น้อย
“จากการติดตามแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาของรัฐบาล จะพบว่า มีหลายมาตรการ แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นมาตรการเดิมๆ แต่ยังคงปล่อยฆาตกรตัวจริงลอยนวล นั่นคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เรายังไม่เห็นการจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง ผู้ดื่มจึงกลายเป็นเป้า ส่วนผู้ผลิต ผู้ขาย กลับลอยตัว และกอบโกยบนความสูญเสีย จึงเกรงว่าในปีนี้จำนวนคนเจ็บตายจะเพิ่มขึ้นอีก หากยังไม่ใช้ยาแรงจัดการที่ต้นทางปัญหาคือน้ำเมา เพื่อป้องกันปัญหาและลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ให้ได้จริง เครือข่ายฯจึงขอแสดงจุดยืนและมีเสนอต่อรัฐบาล คสช. เพื่อพิจารณา” นายคำรณ กล่าว
นายคำรณ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอ ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาล คสช. ออกมาตรการห้ามจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในกิจกรรมคอนเสิร์ต และอีเวนต์ต่างๆ ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตราย ทั้งนี้ ยังสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้แต่ต้องปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด 2. ขอให้ยกเลิกการออกใบอนุญาตขายสุรา ประเภทชั่วคราวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และยกเลิกตลอดไปเพราะเป็นปัญหาที่ยากต่อการควบคุม 3.ขอให้ทบทวน ความผิดฐานเมาแล้วขับ ให้ปริมาณแอลกอฮอล์ลดลงจาก 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เหลือที่ 20 หรือ 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และ 4. ขอเรียกร้องให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งผู้ผลิตและจำหน่าย ร่วมมือ กับภาครัฐในการจัดกิจกรรมที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บล้มตายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุอันมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง