ผลวิจัยชี้ “แรงงานฝีมือไทย” ยังน้อย ต้องสร้างเพิ่มขึ้นอีก 50% ราว 12 ล้นคน ภายใน 10 ปี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 แนะ ก.แรงงานร่วม ศธ. ปูพื้นฐาน “วิชาชีพ” ในเด็กมัธยมด้วย นอกจากการปั้นนักเรียนสายอาชีวะ
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นำเสนอผลการวิจัย “สถานการณ์ตลาดแรงงานในกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม” ภายใต้โครงการการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เยาวชน จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลยธุรกิจบัณฑิตย์ ว่า ภาพรวมของตลาดแรงงานไทยในวันนี้มีความต้องการแรงงานในสายวิชาชีพที่จบ ปวช. ปวส. และ ม.6 ที่มีทักษะอาชีพพอที่จะไปทำงานได้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ ใน 4 - 5 ปีข้างหน้า เพราะแรงงานกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 4.0 ด้วยความรวดเร็ว โดยข้อมูล Human Capital Report 2016 ที่จัดทำโดย World Economic Forum พบว่าสัดส่วนของแรงงานฝีมือของประเทศ สวีเดน เยอรมนี สิงคโปร์ และฟินแลนด์ นั้น มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 48 ส่วนประเทศไทยมีเพียงร้อยละ 14.4 ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างค่อนข้างมาก
“โครงสร้างแรงงานที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่ยุค 4.0 ได้ คือ ประเทศไทยจะต้องมีแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 - 50 แต่ปัจจุบันกลับมีเพียงร้อยละ 20 และเมื่อดูข้อมูลจะพบว่า อัตราผู้เรียนจบปริญญาตรีในปี 2559 มีผู้ว่างงานถึง 1.79 แสนคน ซึ่งหลายๆ จังหวัดของไทยยังเป็นเศรษฐกิจในยุค 2.0 การจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ 3.0 และ 4.0 ได้ จะต้องถูกขับเคลื่อนด้วยแรงงานในสายวิชาชีพ แต่อีกหลายจังหวัดยังอยู่ที่ 2.0 หรือ 3.0 ก็จะยิ่งสร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการผลิตคนในสายอาชีพนั้นไม่จำเป็นจะต้องผลิตผู้เรียนที่จบอาชีวะเพียงอย่างเดียว แต่สามารถขยายสู่โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา ให้นักเรียนได้เรียนวิชาชีพที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานในพื้นที่เป็นวิชาเสริมในการเรียนได้ ซึ่งก็จะช่วยให้เด็กมัธยมที่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อสามารถหางานทำได้ และยังช่วยให้นักเรียนเหล่านี้กลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อีกด้วย ฉะนั้นเพื่อขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0 เราจึงต้องการแรงงานฝีมืออีกไม่น้อยกว่า 12 ล้านคน ภายใน 10 ปี” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ขณะนี้ภาคการศึกษาของไทยเริ่มขยับตัวบ้างแล้ว แต่หากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปก็คือกระทรวงแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องร่วมกันฝึกทักษะวิชาชีพให้กับเด็กนักเรียน รวมไปถึงคนที่อยู่ในวัยทำงานตอนต้นที่ออกไปทำงานแล้วในขณะนี้ให้มีทักษะวิชาชีพที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งหากสามารถทำควบคู่กันไปได้เชื่อว่าภายในระยะเวลา 5 ปี ก็จะเริ่มเห็นภาพการขับเคลื่อนที่การพัฒนากำลังคนและเป้าหมายที่ชัดเจน และคาดว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้เต็มตัวในอีก 15 ปีข้างหน้า หรือในปี 2575
ดร.พีระ รัตนวิจิตร ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า การจัดการศึกษาในปัจจุบันต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกองคาพยพ บูรณาการองค์ความรู้ทุกภาคส่วนเข้ามา โดยเฉพาะการทำงานในระดับจังหวัด ซึ่งในวันนี้เรามี กศจ. เป็นคณะทำงานที่จะช่วยทำให้เกิดการปฏิบัติจริงในพื้นที่ วันนี้ สพฐ. ต้องการให้เด็กไทยมีทักษะพื้นฐาน 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพตั้งแต่ระดับปฐมวัย โดยได้เตรียมการพัฒนาครูแนะแนวให้ทำงานในเชิงปฏิบัติให้ได้ วันนี้เรามีโปรแกรมช่วยวิเคราะห์เพื่อค้นหาตัวตนของเด็กแต่ละคนว่ามีความถนัดในด้านไหน และเหมาะที่จะศึกษาต่อในสายใด ให้เด็กเลือกเรียนได้ตามความต้องการและตรงกับความถนัด ก็จะช่วยลดปัญหาเด็กออกกลางคันได้ และในปีหน้าก็จะนำระบบนี้ไปใช้กับเด็กในระดับประถมศึกษา ซึ่งจะเชื่อมโยงกับข้อมูลงานวิจัยและข้อมูลตลาดแรงงานที่ สพฐ. สสค. และ 10 จังหวัดกำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้