xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริโภคจี้ “ดารา-เซเลบ” ขายเครื่องสำอางออนไลน์ ขึ้นทะเบียน อย.-พาณิชย์ ตาม กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้บริโภคชื่นชม บอร์ดคุมราคาสินค้าฯ ออกประกาศสั่ง “ผู้ค้าออนไลน์” แสดงราคา - รายละเอียดสินค้า บริการ จี้คนขายเครื่องสำอางออนไลน์ ทั้งดารา - เซเลบ ขึ้นทะเบียนทั้ง อย. และทะเบียนพาณิชย์ตามกฎหมาย ช่วยผู้บริโภคตรวจสอบง่าย ด้าน อย. ย้ำ อย่าเชื่อโฆษณาเครื่องสำอางออนไลน์โอ้อวดเกินจริง มักไม่มีทะเบียน อย. หรือทะเบียนปลอม

จากกรณีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (บอร์ดคุมราคาสินค้าฯ) ออกประกาศฯ ฉบับที่ 44 พ.ศ. 2560 เรื่องการแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการ ผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ ออนไลน์ ลงในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงราคาจำหน่าย ค่าบริการ รวมถึงประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และรายละเอียดของสินค้าหรือบริการ และแสดงค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากราคาสินค้าหรือค่าบริการไว้ควบคู่ด้วยนั้น

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นข่าวดีที่จะทำให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสในการเปรียบเทียบราคา หรือค่าบริการก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆ ทั้งนี้ การแสดงราคา - รายละเอียดสินค้าและบริการ รวมถึงการค่าบริการ ประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนัก  ด้วยการการเขียน พิมพ์ ทั้งภาษาไทย หรือภาษาอื่นๆ ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจในการเลือกซื้อ ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้บริโภคจะต้องรู้รายละเอียดต่างๆ ของสินค้าและบริการ นอกจากนี้ ขอเสนอเพิ่มเติมกรณีกลุ่มผู้ค้าขายเครื่องสำอางผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ขอให้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงจดทะเบียนการค้ากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และขอให้หน่วยงานกำกับดูแลเข้มงวดในการกำกับการโฆษณาเกินจริง

“มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาจำนวน 31 ราย จากการซื้อเครื่องสำอางผ่านเฟซบุ๊กที่โฆษณาว่า ใช้แล้วผิวขาว หน้ากระจ่างใส พอใช้แล้วปรากฏว่า ทำให้เกิดอาการแสบ คัน แพ้เป็นรอยแตก หรือมีอาการแพ้เป็นสิวหนองที่หน้า ซึ่งบางรายแพทย์ระบุว่ารักษาไม่หาย เพราะเกิดจากการใช้เครื่องสำอางที่ผสมสเตียรอยด์ หรือ ผสมสารปรอท ซึ่งเป็นสารเคมีต้องห้าม ที่ อย. กำหนดห้ามใช้ในเครื่องสำอาง การยื่นเรื่องให้ อย. ตรวจสอบ หรือเรียกค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคค่อนข้างยาก เพราะมีขั้นตอนการตรวจสอบซับซ้อน และใช้เวลา ทำให้ล่าช้า จึงอยากให้ผู้ค้าขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และแสดงเลขจดแจ้งของสินค้าให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้เลย ไม่ต้องกลัวภาษีและการลอกเลียนแบบ เพราะถ้าของดีจริงอย่างไรก็ขายได้” นางนฤมล กล่าวและว่า กลุ่มผู้ค้าที่เป็นดารา หรือคนมีชื่อเสียงไม่ควรใช้ความมีชื่อเสียงขายของอย่างเดียว ควรขึ้นทะเบียนทำให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ปัจจุบันมีการซื้อขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น อาหาร เครื่องสำอาง ผ่านทางโซเชียลมีเดีย และอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว และตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตที่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม มักพบว่า หลายผลิตภัณฑ์มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หลอกขายให้ผู้บริโภคสั่งซื้อมาใช้ โดยผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างต่างๆ มักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. ไม่มีเลขทะเบียน หรือเป็นเลขทะเบียนปลอม ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ใดๆ ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาอ่านฉลากให้ถี่ถ้วนเสียก่อน หากต้องการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพดังกล่าว ผ่านการขออนุญาตจาก อย. แล้วหรือไม่ ขอให้สังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ โดยบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารต้องแสดงเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. ผลิตภัณฑ์ยาต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา เช่น ทะเบียนยาเลขที่ G/70/58 และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ต้องมีเลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก

ทั้งนี้ อย. ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลจำเป็นก่อนเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพดังกล่าวที่ Oryor Smart Application เข้าไปที่เมนู ตรวจเลขที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพียงกรอกเลขที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ แล้วกด DONE ระบบจะดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางของ อย. ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง และวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน และสามารถตรวจสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ได้ที่เว็บไซต์ www.oryor.com และ www.fda.moph.go.th เช่น รายชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทำให้หน้าอกโต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทำให้ผิวขาว และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอันตราย เป็นต้น

“กรณีผลิตภัณฑ์ยา การขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ตถือว่าผิดกฎหมาย เพราะตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 มีข้อกำหนดชัดเจนเรื่องสถานที่ขายยาว่า ต้องไม่ขายนอกสถานที่ตามที่อนุญาต เพราะยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป การซื้อจึงต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้ปฏิบัติวิชาชีพโดยตรง การขายในอินเทอร์เน็ต จึงเป็นการขายนอกสถานที่ที่อนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น