xs
xsm
sm
md
lg

ดันภาคอุตฯ ปรับสูตรลด “โซเดียม” อาหารปรุงสำเร็จ ลดป่วยเรื้อรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คนไทยกินเค็มเกินพิกัด อย. เร่งลดเค็มตามต่างประเทศ ปรับสูตรลด “โซเดียม” ในอาหารปรุงสำเร็จ หวังแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เผย อาหารปรับสูตรลดเค็มยังน้อย แค่ 100 รายการ

วันนี้ (21 มี.ค.) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ (Dr.Daniel Kertesz) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวในการประชุมพิจารณามาตรการควบคุมโซเดียมในอาหาร ว่า มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ยืนยันว่า การบริโภคโซเดียมมากเกินเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพิ่มขึ้น อาทิ โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไต เป็นต้น ซึ่งการลดการกินเค็ม หรือโซเดียมถือเป็นหนึ่งในมาตรการลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังขององค์การอนามัยโลก โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำการบริโภคเกลือ โซเดียมไม่เกิน 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชาต่อวัน แต่คนไทยค่อนข้างกินเค็มเกินปริมาณที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายประเทศทั่วโลกหันมาใช้มาตรการปรับสูตรอาหารปรุงสำเร็จ โดยลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมในอาหาร ก็ถือว่าได้ผลดี ดังนั้น เรื่องนี้จะสำเร็จได้ต้องร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการประชุมวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคเค็มหรือโซเดียมสูงประมาณ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน คือ เป็น 2 เท่าจากที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ถือว่าเป็นประเทศที่กินเค็มเป็นอันดับต้นๆ เทียบกับเกาหลี ญี่ปุ่น เพราะมีการกินอาหารที่ต้องจิ้มน้ำจิ้มเยอะ ปัจจุบัน อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีมาตรการแบบสมัครใจให้ภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรอาหารลดหวาน มัน เค็ม ลง ถ้าผลิตภัณฑ์อาหารใดทำได้ก็จะได้สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสัญลักษณ์ดังกล่าวประมาณ 100 กว่าผลิตภัณฑ์แต่ถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด อย่างไรก็ตาม เรื่องลดการกินเค็ม ลดการกินโซเดียมต้องใช้การณรงค์ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนน่าจะดีกว่าการออกกฎหมายให้มาเป็นลำดับสุดท้าย

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การที่ร่างกายได้รับโซเดียมสูงจะมีผลกระทบต่อหลายระบบในร่างกาย โดยเฉพาะไตที่ทำหน้าที่ขับโซเดียมต้องทำงานหนัก และเกิดไตเสื่อม เมื่อเป็นมากต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตโดยวิธีการล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเฉลี่ย 240,000 บาทต่อคนต่อปี ไม่รวมค่ายา และค่าใช้จ่ายทางอ้อม ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ปี 2558 ใช้งบประมาณในการล้างไต 5,247 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 6,318 ล้านบาท ในปี 2559 ส่วนสิทธิประกันสังคมรวมกับข้าราชการต้องใช้ปีละ 10,000 ล้านบาท รวมเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 15,000 ล้านบาท โรคหัวใจและหลอดเลือด ปีละ 78,976 ล้านบาท โรคเบาหวาน 24,489 ล้านบาท

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การลดการบริโภคโซเดียม สสส. จะร่วมผลักดันให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การผลักดันนโยบาย เป็นกระบวนการสำคัญหนึ่งในการพัฒนานโยบายสาธารณะ กระบวนการนโยบายเพื่อการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยทั้งปัจจัยเสี่ยงเชิงพฤติกรรมของประชาชน รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่กระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ นอกจากการมีข้อมูลวิชาการเพื่อแสดงความสำคัญ และความจำเป็นที่ต้องควบคุมและจัดการปัญหาแล้ว ยังต้องอาศัยกลยุทธ์และกระบวนการอื่นๆ เพื่อผลักดันจนเกิดเป็นนโยบายและมีการบังคับใช้ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น