xs
xsm
sm
md
lg

จี้ สธ.ฟัน “บ.น้ำเมา” ใช้โลโก้ “น้ำ-โซดา” เหมือนเบียร์หวังโฆษณา 24 ชม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายต้านเหล้า จี้ สธ. ฟัน “บริษัทน้ำเมา” จงใจใช้โลโก้ “น้ำ - โซดา” เหมือนโลโก้ “เบียร์” หวังโฆษณาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ชี้จงใจเลี่ยง กม. หวั่นแห่ใช้โลโก้ช่วงสงกรานต์ในการจัดอีเวนต์และคอนเสิร์ต ด้านกรมควบคุมโรคเร่งตรวจสอบ หากผิดมีโทษทั้งจำและปรับ

วันนี้ (21 มี.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่กรมควบคุมโรค นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) นำเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กว่า 30 คน ร้องเรียนต่อ นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กรณีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกแบบสินค้ากลุ่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำดื่ม และโซดา โดยใช้ตราสัญลักษณ์ (โลโก้) ที่ใกล้เคียงกับโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งรูปแบบ สี และชื่อ เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายห้ามโฆษณาของ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ทำให้สามารถโฆษณาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นายคำรณ กล่าวว่า จากการรวบรวมพบว่า ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ของไทยทั้ง 2 บริษัท จงใจใช้โลโก้น้ำและโซดา ใกล้เคียงโลโก้เบียร์ ซึ่งมีเจตนาแอบแฝงเพื่อหลีกเลี่ยง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 สร้างความสับสน และคนทั่วไปจะทราบว่าเป็นโลโก้เบียร์ เนื่องจากโลโก้ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์เบียร์มาก อีกทั้งมีงานวิจัยอย่างน้อยสองชิ้นของไทย ที่ระบุชัดว่าโลโก้สินค้าลักษณะใกล้เคียงกัน เด็กและเยาวชนเกิน 90% เข้าใจว่า คือ โลโก้เบียร์ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อยุติการใช้โลโก้สินค้าที่ใกล้เคียงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการโฆษณาฉ้อฉลดังกล่าว โดยเครือข่ายฯ มีข้อเสนอ ดังนี้

1. ขอให้ตรวจสอบกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จดทะเบียนโลโก้น้ำและโซดาที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทำการโฆษณาตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะเข้าใจว่า เป็นสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2. ช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่า การใช้โลโก้สินค้าในรูปแบบใกล้เคียงกับโลโก้เบียร์ จะมีการนำมาใช้ในคอนเสิร์ต กิจกรรมสงกรานต์ และอีเวนต์ต่างๆ ที่มีการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย จึงขอให้ สธ. เร่งแจ้งไปยังบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ยุติการใช้โลโก้ดังกล่าวในกิจกรรมที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องปรามมิให้มีการกระทำที่ผิดกฎหมายเป็นการด่วน และ 3. ขอให้ สธ. มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผลักดันให้มีการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด เพื่อกำหนดแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงสงกรานต์ให้เป็นรูปธรรม เพราะพบว่ายังมี คกก. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด หลายจังหวัดยังไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร

ด้าน นพ.สุเทพ กล่าวว่า ขณะนี้พบว่า การกระทำความผิดในลักษณะการใช้โลโก้เหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในการโฆษณาสินค้าประเภทอื่นด้วย ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ทางตลาดรูปแบบหนึ่ง โดยให้สินค้าหลายประเภทมีแบรนด์เดียวกัน และใช้โลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการโฆษณาสินค้าประเภทน้ำดื่มและโซดา แต่การทำให้ปรากฏภาพโลโก้ดังกล่าวยังคงหมายความรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย จึงถือเป็นการแสดงข้อความตามนิยามที่เป็นการกระทำให้ประชาชนเข้าใจความหมายได้ว่าหมายถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกรณีเช่นนี้ศาลจังหวัดลำพูนเคยมีคำพิพากษา กรณีบริษัทแห่งหนึ่งใช้โลโก้น้ำดื่มที่เหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่ามีความผิดตาม มาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกฮอล์ เนื่องจากสัญลักษณ์ดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้กับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไป นอกจากนี้ยังใช้พื้นสีเดียวกัน ซึ่งแม้ไม่เขียนคำว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คนทั่วไปก็จะเข้าใจได้ว่าคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบรนด์นั้น โดยมีโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี

“กรมฯ ขอขอบคุณเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่รณรงค์ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สนับสนุน และร่วมดำเนินการเพื่อป้องกันการริเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนและประชาชนทั่วไป จากการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปแล้ว ซึ่งหากพบว่ากรณีดังกล่าวมีความผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกโฆษณา” นพ.สุเทพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น