xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มพบสารฆ่าแมลงใน “ผัก-ผลไม้” ลดลง แต่ “ส้ม-คะน้า” ปัญหายังมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมวิทย์ เผย สารฆ่าแมลงตกค้างในผัก - ผลไม้ ลดลง เผยปี 59 พบเพียง 0.46% แต่ “ส้ม - คะน้า” ยังมีปัญหาสารพิษมาก ชี้ ทดสอบนำผักผลไม้ปรุงอาหารตามวิธีปกติในครัวเรือน พบคนไทยยังปลอดภัยจากสารพิษ

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมฯ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง เฝ้าระวังความปลอดภัยของผักสด ผลไม้สด ในประเทศ ซึ่งจากการเฝ้าระวังโดยใช้ชุดทดสอบตั้งแต่ปี 2550 โดยสุ่มตรวจผักผลไม้ปีละมากกว่า 3,000 ตัวอย่าง พบว่า การตกค้างสารเคมีกำจัดแมลงในผักและผลไม้ที่เกินเกณฑ์ความปลอดภัยมีแนวโน้มลดลง โดยปี 2559 ตรวจพบเพียงร้อยละ 0.46 ส่วนการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ระหว่างปี 2556 - 2559 โดยสุ่มตรวจผักและผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศปีละประมาณ 800 ตัวอย่าง พบการตกค้างประมาณร้อยละ 10

นพ.สุขุม กล่าวว่า ส่วนปี 2559 ได้มีการสุ่มเก็บผักและผลไม้สดที่คนไทยนิยมบริโภคสูงจากตลาดค้าส่ง จาก 5 ภาคๆ ละ 2 จังหวัด ผลไม้สด ได้แก่ ส้ม มะม่วง ฝรั่ง เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย แก้วมังกร ชมพู่ รวม 99 ตัวอย่าง ตรวจพบสารตกค้างร้อยละ 51 จากการตรวจทั้งผลรวมเปลือก ซึ่งมีผลไม้ ที่สารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ร้อยละ 7 ทั้งนี้ ชนิดสารเคมีที่มีอัตราตรวจพบสูง คือ คาร์เบนดาซิม และไซเปอร์มีทริน ส่วนผักสด ได้แก่ คะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง แตงกวา พริกขี้หนู ผักชี โหระพา และ มะเขือเปราะ จำนวน 112 ตัวอย่าง มีสัดส่วนการตกค้างร้อยละ 50 และ ร้อยละ 5 ของผักสดดังกล่าวมีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งตรวจพบการตกค้างวัตถุอันตรายทางการเกษตรห้ามใช้ 2 ชนิด ได้แก่ เอนโดซัลแฟน และ เมธามิโดฟอส ในคะน้า และถั่วฝักยาว 3 ตัวอย่าง

นพ.สุขุม กล่าวว่า ที่ผ่านมา ในช่วงปี 2555 - 2557 ได้จัดทำโครงการพัฒนาตลาดกลางค้าส่งผัก/ผลไม้สด และ เมกะสโตร์ (megastores) เพื่อส่งเสริมให้ตลาดค้าส่งทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 29 แห่ง แหล่งรวบรวมสินค้าของห้างค้าปลีก (modern trade) แหล่งรวบรวม ตัดแต่ง และคัดแยกผักและผลไม้ กลุ่มเกษตรกรและองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบเบื้องต้น หรือระบบตรวจสอบสินค้าและผลผลิตของตนเอง และในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนมกราคม 2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เก็บตัวอย่างผักสด 12 ชนิด จำนวน 42 ตัวอย่าง และผลไม้สด 5 ชนิด จำนวน 18 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบสารตกค้างเพียง 3 ตัวอย่างที่เกินค่ามาตรฐานกำหนด รวมทั้งกำลังดำเนินการสำรวจคุณภาพและความปลอดภัยของส้ม ทั้งที่ปลูกภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนั้น ได้ศึกษาประเมินความเสี่ยงการได้รับสารพิษตกค้าง

สำหรับการศึกษาประเมินความเสี่ยงการได้รับสารพิษตกค้าง จากการบริโภคอาหารของคนไทย ซึ่งเป็นการศึกษาในลักษณะองค์รวมที่มีความแม่นยำน่าเชื่อถือ เนื่องจากอาศัยฐานข้อมูลจากการสำรวจปริมาณการบริโภคอาหารของประชากรไทย โดยสุ่มตัวอย่างอาหารทั้งที่มีแหล่งกำเนิดจากพืช สัตว์ และน้ำ จาก 4 ภาค ภาค ละ 2 จังหวัด และการเตรียมตัวอย่างอาหารเพื่อการวิเคราะห์นั้นจะเลียนแบบขั้นตอนการเตรียมอาหารในครัวเรือน เช่น ปอกเปลือก ต้ม ผัดเพื่อปรุงสุกที่สะท้อนสถานการณ์จริงของการบริโภคอาหารแต่ละชนิด ซึ่งผลการดำเนินงานในปี 2532 - 2555 บ่งชี้ว่า คนไทยมีความปลอดภัยจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและยาสัตว์ตกค้าง รวมทั้งการปนเปื้อนของโลหะหนักจากการบริโภคอาหารประจำวัน และการดำเนินงานในปี 2560 ได้เพิ่มจำนวนชนิดอาหารที่สุ่มเก็บแต่ละจังหวัดจากเดิม 111 ชนิด เป็น 131 ชนิด เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการบริโภคที่เปลี่ยนไป ของคนไทยในปัจจุบัน

“ผู้บริโภคสามารถบริโภคผักผลไม้ได้อย่างปลอดภัย โดยเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ และก่อนบริโภคล้างอย่างถูกวิธี เช่น การล้างด้วยน้ำไหลผ่าน การแกะกลีบ ใบ ตัดส่วนที่ไม่รับประทานออก หรือ เคาะดินออกจากรากก่อนนำไปล้างด้วยความแรงของน้ำพอประมาณ คลี่ใบผักแล้วถูไปมาบนผิวใบของผัก ผลไม้นานประมาณ 2 นาที จะช่วยลดสารพิษลงได้ร้อยละ 25 - 65 การใช้ผงฟู หรือเบคกิ้งโซดาครึ่งช้อนโต๊ะผสมกับน้ำอุ่น หรือ น้ำธรรมดา 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ช่วยลดสารพิษได้ร้อยละ 90 - 95 การใช้น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดช่วยลดสารเคมีได้ร้อยละ 60 - 84 และช่วยลดไข่พยาธิได้อีกด้วย” นพ.สุขุม กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น