xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประสบการณ์ 10 ปี “หมอเสาวลักษณ์” รพ.อยุธยา ดูแลผู้ป่วยโรคไตให้มีชีวิตยาวขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดประสบการณ์ “หมอเสาวลักษณ์” รพ.พระนครศรีอยุธยา ดูแล “ผู้ป่วยโรคไต” มานานกว่า 10 ปี ช่วยยืดอายุผู้ป่วย ลดอัตราการเสียชีวิต ย้ำใส่ใจ ดูแลเยี่ยมคนไข้ถึงบ้าน เน้นดูแล กาย จิต สังคม

พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง อายุรแพทย์โรคไต รพ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า หลังจาก รพ.พระนครศรีอยุธยาเข้าร่วมโครงการนำร่องล้างไตผ่านช่องท้องของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ 25 โรงพยาบาลทั่วประเทศ มาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ ต.ค. 2550 พบว่า สามารถช่วยยืดอายุการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้มาก โดยอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องที่โรงพยาบาลดูแลอยู่ ในปีที่ 1, 3, 5 และ 10 ปีเท่ากับ 91.81%, 80.41%, 77.78% และ 76.90% ตามลำดับ เนื่องจากโรงพยาบาลเน้นดูแลครบทุุกกระบวนการตั้งแต่ก่อนผ่าตัดกระทั่งหลังจากผู้ป่วยต้องไปล้างไตเองที่บ้าน โดยได้ส่งทีมแพทย์ไปดูแลและติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคไตจะมีความรู้สึกเศร้า หมดหวัง หมดกำลังใจ ญาติพี่น้องทอดทิ้ง เมื่อได้กำลังใจ การดูแลตัวเองก็จะดีขึ้น

พญ.เสาวลักษณ์ กล่าวว่า เมื่อก่อนถ้าผู้ป่วยเป็นโรคไต ถ้าไม่มีเงินรักษา ก็จะเสียชีวิตเพราะไม่ได้รับการล้างไต แต่เมื่อ สปสช. มีโครงการนี้โดยให้คนไข้ที่ใช้สิทธิ์บัตรทอง สามารถมาล้างไตทางหน้าท้องได้ก็ช่วยได้มาก อีกทั้งโดยปกติผู้ป่วยโรคไตเมื่อเป็นได้ 5 ปีจะเสียชีวิตไปครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่มาจากโรคร่วม เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจกำเริบ เลือดออกในสมอง แต่โรงพยาบาลสามารถแก้ปัญหาได้ดี เพราะหลังผ่านไป 5 ปี คนไข้ยังอยู่รอดที่ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากโรงพยาบาลป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยติดเชื้อ จนพบว่า 47 เดือนถึงจะติดเชื้อครั้งหนึ่งจากปกติอยู่ที่ 18 - 20 เดือน ซึ่งตรงนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลทางอ้อมด้วย อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าช่วงแรกที่ดูแล อัตราการตายของผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์สูง เพราะคนไข้ที่มาอยู่ในสภาพย่ำแย่ ช่วงหลังทางโรงพยาบาลทำงานเป็นระบบ พร้อมกับคัดกรองผู้ป่วย และแนะนำกับคนไข้ตั้งแต่แรกว่า บัตรทองยังใช้ได้และควรล้างไตด้วยการวางสายล้างไตทางหน้าท้อง หลังจากวางสายก็มีทีมพยาบาลสอนผู้ป่วยเรื่องสุขอนามัย การล้างมือ การรับประทานอาหาร และการปล่อยน้ำยาเข้าออก รวมถึงสอนญาติเพราะต้องดูแลผู้ป่วยด้วย เนื่องจากคนไข้คนเดียว บางทีดูตัวเองก็ทำไม่ไหว ต้องให้ญาติช่วยสลับกันดูแล เราเห็นว่าถ้ามีผู้ดูแลที่ดี ผลการรักษาก็จะดี ช่วยกันดูแลทั้งครอบครัว สุขภาพจิตผู้ป่วยก็จะดีขึ้น ไม่ถูกทอดทิ้ง

“หลังจากที่เราวางสายไปแล้วจากนั้น 1 เดือน จะส่งพยาบาลที่สอนเรื่องการล้างไต ร่วมกับเจ้าหน้าที่อนามัยไปเยี่ยมที่บ้านผู้ป่วยครบทุกคน เพราะปัญหามักจะเกิดหลังจากวางสายไปแล้ว 1 เดือน แต่ถ้าเราวางระบบให้ดี ก็จะดีไปตลอด สำหรับการวางสาย คือ ขั้นตอนการล้างไตทางหน้าท้อง โดยจะมีสายที่พับเก็บได้ในถุงหน้าท้องซ่อนอยู่ในเสื้อ น้ำยาล้างไตจะเหมือนถุงน้ำเกลือ แล้วต่อกับสายใส่เข้าไปในช่องท้อง น้ำยาถุงหนึ่งมี 2 ลิตร ปกติจะทิ้งไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง ช่วงนั้นของเสียในร่างกาย จะแพร่เข้าไปในน้ำยา หลังครบ 4 ชั่วโมงก็ปล่อยน้ำยาที่ระบายออกทิ้ง แล้วก็ใส่น้ำยาถุงใหม่เข้าไป ทำอย่างนี้วันละ 4 ครั้ง” พญ.เสาวลักษณ์ กล่าวและว่า ทั้งหมดอยู่ที่การดูแลคนไข้ ที่ต้องดูแลทั้งกาย จิตและสังคม เพราะคนไข้มักจะถูกทอดทิ้งให้ทำเอง เขาจึงแย่ขึ้น โรงพยาบาลจึงเน้นให้ญาติเข้าไปช่วย ส่วนการดูแลทางสังคม คือ ช่วงที่คนไข้มาตรวจรับยา จะมีการเข้ากลุ่ม Health Group ให้เขาช่วยเหลือกัน

พญ.เสาวลักษณ์ กล่าวว่า คนเราอยู่ด้วยกำลังใจ เพราะโรคนี้มันก็สุดๆ แล้ว แถมยังต้องไปทำเองวันละ 4 ครั้ง มันก็เหนื่อยจากการดูแลตนเอง การส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลที่บ้าน มันเป็นความร่วมมือกันหลังจากเห็นผลว่า คนไข้ดีขึ้น เหมือนมันมีกำลังใจให้ทำกันต่อ แต่ค่าตอบแทนมันก็ไม่มีและก็อาศัยความร่วมมือจากผู้บริหารของโรงพยาบาลเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ปัจจุบัน โรงพยาบาลดูแลคนไข้โรคไต 300 กว่าคน แต่ละเดือนจะมีคนไข้วางสาย 10 คน เมื่อวางสายแล้ว ก็จะเซตทีม แจ้งไปที่อนามัย และออกไปดูแล ซึ่งบางกรณีต้องขับออกไปก็ไกล 40 กม. แต่โดยเฉลี่ย โรงพยาบาลดูแลได้อย่างมาก 4 ครอบครัว หรือ 4 บ้าน ซึ่งก็เยี่ยมคนไข้ที่วางสายทุกคนร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนน้ำยาล้างไต สปสช.ก็ให้ไปรษณีย์ไทยไปส่งที่บ้าน น้ำยาหนักถุงละ 2 ลิตร ใช้ 4 ถุง ก็ใช้ 8 ลิตร ไปรษณีย์ส่งให้เดือนละครั้ง คนไข้ก็เบาแรงตรงนี้ ไม่ต้องหารถ เสียค่าใช้จ่ายมาขน ตรงนี้เป็นระบบที่ดีมาก และยังต่อเนื่องไปถึงการปลูกถ่ายไต ซึ่งโรงพยาบาลทำสำเร็จไปหลายคนแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น