xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจฮอร์โมน “AMH” ช่วยประเมิน “รังไข่” มีลูกง่ายหรือยาก!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญหาการมีบุตรยากเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ มีการประมาณการว่า ประชากรทั่วโลกประมาณ 50 - 80 ล้านคนมีปัญหาด้านการมีบุตร ทั้งนี้ การประเมินโอกาสการตั้งครรภ์ที่ผ่านมา ผู้หญิงจำเป็นต้องได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด อาจทำให้รู้สึกเจ็บ เขินอาย และกังวล รวมทั้งการแปลผลอาจมีการคลาดเคลื่อน แต่การตรวจฮอร์โมนแอนตีมูลเลอเรียน (Anti-Mullerian Hormone หรือ AMH) ถือเป็นทางเลือกที่จะใช้การเจาะเลือดตรวจ โดยไม่ต้องเจ็บตัวหรือเขินอาย และสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจได้ทุกวันในรอบเดือน

พญ.เกียง ฮุน นู ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ รพ.มี ดุ๊ก เจเนอรัล ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า โดยปกติ ผู้หญิงจะมีไข่ประมาณ 2 ล้านฟอง ในรังไข่ ถือเป็นจำนวนไข่ทั้งหมดในชีวิตของผู้หญิง เมื่ออายุเพิ่มขึ้นจำนวนไข่ที่เหมาะสำหรับการตั้งครรภ์จะลดลงเรื่อยๆ การตรวจฮอร์โมน AMH จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้แพทย์ประเมินได้ว่าผู้หญิงคนนั้นมีโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากน้อยเพียงใด จึงช่วยให้แพทย์สามารถให้คำปรึกษากับผู้หญิงและคู่สามีภรรยาที่กำลังวางแผนครอบครัวได้ดีขึ้น เพื่อวางแผนเกี่ยวกับเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์โดยวิธีธรรมชาติ หรือควรพิจารณารับการรักษาเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

“การตรวจฮอร์โมน AMH คือ การเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH ซึ่งระดับเลือดของฮอร์โมนนี้สามารถบอกได้ว่าผู้หญิงคนนั้นมีจำนวนไข่ที่เหลืออยู่ สำหรับการเจริญพันธุ์มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับผู้หญิงที่กำลังวางแผนการตั้งครรภ์ หรือกำลังประสบปัญหาด้านการมีบุตร นอกจากนี้ การตรวจฮอร์โมน AMH ยังสามารถใช้ทำนายการตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กระตุ้นการตกไข่ในถุงไข่หลายๆ ใบ และถือเป็นขั้นตอนแรกของการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อย่างเช่นการทำเด็กหลอดแก้ว (in vitro fertilisation หรือ IVF)” พญ.เกียง ฮุน นู กล่าว

พญ.เกียง ฮุน นู กล่าวว่า การตรวจวัดฮอร์โมน AMH ก่อนการทำ IVF จะช่วยบอกได้ว่าผู้หญิงท่านนั้นมีจำนวนไข่เหลือประมาณเท่าใด และจะตอบสนองต่อการทำ IVF ได้ดีเพียงใด หากค่า AMH อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็จะบอกได้ว่ารังไข่จะตอบสนองต่อการกระตุ้นการตกไข่ได้ดี และจะมีจำนวนไข่ที่ตกมากขึ้นด้วย ซึ่งหมายความว่าการทำ IVF จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

ผศ.พญ.พรทิพย์ สิรยาภิวัฒน์ สูตินรีแพทย์และแพทย์ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การตรวจฮอร์โมน AMH สามารถช่วยให้แพทย์ประเมินว่าจะมีโอกาสได้ไข่จากกระตุ้นมากหรือน้อยเพียงใด เพื่อใช้ในการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ อาทิ การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย สำหรับผู้หญิงที่กังวลว่าจะแต่งงานช้า หรือแต่งงานแล้วจะมีลูกยาก รวมถึงผู้มีภาวะมีบุตรยากที่อายุยังน้อย และประสบปัญหากระตุ้นไข่ไม่สำเร็จ การตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH เป็นทางเลือกที่ให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจวางแผนมีบุตร ซึ่งการตรวจฮอร์โมน AMH ใช้การตรวจเลือด โดยไม่ต้องงดอาหาร สามารถตรวจวันใดก็ได้ เพราะฮอร์โมน AMH ไม่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน ตรวจเพียงครั้งเดียวก็สามารถทราบการพยากรณ์ปริมาณไข่ที่เหลือในรังไข่ว่ามีมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ผลตรวจยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจฝากไข่ก่อนวัย 35 ปี หรือในขณะที่ยังอยู่ในช่วงวัยที่ไข่มีความสมบูรณ์

“ภาวะมีบุตรยาก ส่งผลกระทบต่อคู่สมรสทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และมีความกดดันทางตรงและทางอ้อมจากสังคมและคนรอบข้าง ข้อมูลที่ถูกต้อง และเชื่อถือได้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ประสบภาวะมีบุตรยากเป็นอย่างยิ่ง การตรวจฮอร์โมน AMH ช่วยให้คู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากสามารถคาดการณ์ภาวะเจริญพันธุ์ที่เหลืออยู่ได้ ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการตั้งครรภ์” ผศ.พญ.พรทิพย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น