xs
xsm
sm
md
lg

เพาะช่าง ปั้นช้างตระกูลพรหมพงศ์ สื่อ ในหลวง ร.๙

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพาะช่าง ปั้นช้าง 10 ตระกูลประดับพระเมรุมาศคืบกว่า 80% เผยช้างตระกูลพรหมพงศ์ สื่อ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ปกครองแผ่นดินด้วยพรหมวิหาร 4 เพิ่มลักษณะพิเศษ “งาอ้อมจักรวาล” ที่ปรากฏในพระเศวตฯ เสริมพระบารมี

นายประสิทธิ เอมทิม หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย ภาควิชาศิลปะประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า กรมศิลปากร มอบหมายให้วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นผู้รับผิดชอบการปั้นประติมากรรมช้าง 10 ตระกูล ประจำทิศทั้ง 4 เพื่อประดับภายในสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ ที่จำลองเป็นป่าหิมพานต์ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ล่าสุด วิทยาลัยเพาะช่าง ประชุมร่วมกับกรมศิลปากร และได้รับมอบหมายให้ปั้นช้างเพิ่มอีก 10 ตัว จากเดิมปั้น 20 ตัว รวมทั้งสิ้น 30 ตัว ในขณะนี้การปั้นต้นแบบคืบหน้ากว่า 80% แล้ว ขึ้นรูปได้แล้ว 22 ตัว สำหรับแนวคิดการออกแบบยึดตามคติโบราณและรูปแบบในตำราคชลักษณ์ แสดงรูปพรรณสัณฐานของช้างตระกูลพรหมพงศ์ เป็นช้าง 10 หมู่ ซึ่งพระพรหมสร้างขึ้น ลักษณะทางกายภาพช้างเหมือนกันทั้งหมด จะแตกต่างกันที่สี หมู่ที่ 1 ชื่อว่า ฉัททันต์ สีขาวเหมือนสีเงินยวง หางแดง สีเท้าแดง หมู่ที่ 2 เรียกว่า อุโบสถ สีเหมือนสีทอง หมู่ที่ 3 ชื่อ เหมหัตถี สีเหลือง หมู่ที่ 4 ชื่อว่า มงคลหัตถี สีเหมือนดอกอัญชัญม่วง หมู่ที่ 5 ชื่อว่า คันธหัตถี สีเหมือนกฤษณา หมู่ที่ 6 ชื่อว่า ปิงคัล สีเหมือนตาแมว หมู่ที่ 7 ชื่อ ดามพหัตถี สีเหมือนทองแดงหล่อน้ำใหม่ หมู่ที่ 8 ชื่อ บัณฑระนาเคนทร สีขาวเผือก หมู่ที่ 9 ชื่อว่า คงไคย สีเหมือนน้ำไหล หมู่ที่ 10 ชื่อ กาฬวกะหัตถี สีดำเหมือนปีกกา ตนได้เสนอให้นำรูปคชลักษณ์ ที่มีในหมวดอื่นมาใส่ในช้างตระกูลพรหมพงศ์ด้วย เช่น งาอ้อมจักรวาล งาเอกทันต์ ที่ปรากฏในตระกูลอิศวรพงศ์นำมาผสม ซึ่งกรมศิลปากรได้เห็นชอบ

“ช้าง 10 หมู่ที่ปั้นประดับพระเมรุมาศยึดตามคติไตรภูมิ เชื่อว่า ช้างมีพละกำลังมากที่สุด ทีมช่างสร้างสรรค์รูปแบบช้าง 10 ตระกูล ให้เชื่อมโยงกับในหลวง ร.๙ เช่น คชลักษณ์ที่นำมาใส่เป็นงาอ้อมจักรวาลที่ปรากฏในพระเศวตอดุลยเดชพาหลฯ ถือเป็นช้างคู่พระบารมีของพระองค์ แล้วยังมีความพิเศษช้างของพระโพธิสัตว์ ชื่อพญาฉัททันต์ เพิ่มลักษณะที่เป็นอุดมคติ ช้าง 10 ตระกูลในหมวดพรหมพงศ์สอดคล้องกับพระองค์ได้ปกครองแผ่นดิน และดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรชาวไทยโดยยึดหลักพรหมวิหาร 4 อย่างไรก็ตาม คาดว่า ต้นแบบช้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จปลายเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้กรมศิลปากรตรวจสอบ ถ้าหากผ่านการพิจารณาจากกรมศิลปากรแล้ว ต่อจากนั้นทีมเพาะช่างจะดำเนินการทำพิมพ์ซิลิโคนและหล่อไฟเบอร์กลาสเดือนพฤษภาคม ส่วนขั้นตอนลงสีทางกรมศิลปากรจะเป็นผู้ดำเนินการเอง” นายประสิทธิ กล่าว และว่า กรมศิลปากรนัดประชุมทีมเพาะช่าง และทีมช่างเพชรบุรี ที่ได้รับมอบหมายปั้นสัตว์หิมพานต์ประชุมร่วมกับสำนักสถาปัตยกรรม ในสัปดาห์หน้า เพื่อสรุปรูปแบบประติมากรรมหินประดับพระเมรุมาศ เพื่อให้อากัปกริยาของสัตว์หิมพานต์สอดคล้องกับภูมิทัศน์

นายทมิฬ ศรีศิลา อาจารย์ประติมากรรมไทย วิทยาลัยเพาะช่าง กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้ปั้นช้างกุญชรวารี ซึ่งเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ ที่มีรูปร่างเป็นช้างบริเวณลำตัวมีครีบและหางเป็นปลา โดยกุญชรวารีนี้ ถือเป็นสัตว์หิมพานต์ ที่มักจะเขียนกันตามผนังโบสถ์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับทะเล โดยมีช้างน้ำว่ายคลอเคลียอยู่จึงน่าจะเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก คือ ไปได้ทั้งบนบกและในน้ำ เมื่อเดินบนบกก็จะมีเท้าสำหรับเดิน แต่เมื่ออยู่ในน้ำก็สามารถว่ายน้ำ และยังมีหางปลาช่วยโบกส่งท้าย ดังนั้น ตนได้นำรูปแบบของวรรณคดีมาทำการปั้นประกอบกับใช้จินตนาการให้ดูสมจริง โดยปั้นช้างเผือกมีลักษณะสง่างาม หูของช้างปั้นให้มีรอยหยักเหมือนครีบของปลา ด้านขาหน้าทั้งสองข้างใส่ครีบปลา และบริเวณหางใส่หางปลาชนิดเดียวกับปลาฉลาม ซึ่งเป็นเจ้าแห่งปลาในท้องทะเล


กำลังโหลดความคิดเห็น