xs
xsm
sm
md
lg

“หมอเจตน์” จี้ ปส.ออกประกาศเว้น “เครื่องเอกซเรย์” การแพทย์ ใน กม.คุมนิวเคลียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปธ.กมธ.สธ.สนช.ชี้ ปส. ต้องเร่งออกประกาศกฎกระทรวง ยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ภายใต้กฎหมายควบคุมพลังงานนิวเคลียร์ เหตุมีคลินิกรอต่อใบอนุญาตสถานพยาบาล ก่อนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง พร้อมระบุเครื่องเอกซเรย์คลินิกมีความปลอดภัย

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ยังไม่ออกประกาศกระทรวงเพื่อยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ว่า เรื่องนี้ทาง กมธ.สธ. ได้เคยพิจารณาแล้ว และได้ส่งความเห็นไปยัง ปส. ว่า เห็นควรให้มีการยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ที่จัดตั้งในคลินิกเล็กๆ ทั่วไป ทั้งที่คลินิกทันตกรรม คลินิกสัตวแพทย์ และคลินิกรักษาโรค อาทิ โรคกระดูก จากการบังคับภายใต้กฎหมายนิวเคลียร์นี้ เนื่องจากในการพิจารณา พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฯ ไม่มีใครทราบว่าจะมีการให้อำนาจ ปส. ควบคุมเครื่องเอกซเรย์ตามคลินิก รวมไปถึงการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) ซึ่งเดิมเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่สร้างความยุ่งยาก ทั้งการอบรมและการกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมจนเกิดผลกระทบขึ้น

นพ.เจตน์ กล่าวว่า จากบทเรียนของการออกกฎหมายฉบับนี้ ส่งผลให้ในการนำเสนอร่างกฎหมายจากนี้ไปได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ว่า ในการส่งร่าง พ.ร.บ. เพื่อให้ ครม. และ สนช. พิจารณา หน่วยงานที่นำเสนอจะต้องนำเสนอในส่วนของสาระกฎหมายลูกภายใต้ร่าง พ.ร.บ. ด้วยว่าจะมีกี่ฉบับ มีเนื้อหาอย่างไร รวมทั้งระยะเวลาการออกกฎหมายลูกที่ชัดเจน เพื่อความชัดเจนในการพิจารณา และไม่ให้เกิดปัญหาวาระที่ซ่อนอยู่เช่นที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ได้มีการร้องเรียนเรื่องนี้ต่อ กมธ.สธ. ทั้งจากทันตแพทย์และผู้ที่ได้รับผลกระทบ กมธ.สธ. จึงได้มีการพิจารณาและเห็นว่าเครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ในคลินิกเล็กๆ ทั่วไป ถือว่ามีความปลอดภัยเพราะมีรังสีต่ำ ไม่เป็นอันตราย ยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ที่ใช้อยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ เพราะเป็นเครื่องที่มีขนาดใหญ่และมีรังสีมากที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม และเรื่องนี้ ปส. สามารถออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นการบังคับภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้

“ขณะนี้ไม่ทราบว่าการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้ของ ปส. อยู่ในขั้นตอนไหน อาจยังอยู่ในช่วงรับฟังความเห็นที่ต้องรอบด้าน ทั้งแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากขณะนี้มีคลินิกจำนวนหนึ่งที่ไม่ยังรอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล โดยรอการออกกฎกระทรวงฉบับนี้ก่อน ทาง ปส. จึงควรเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อปลดล๊อคไม่ให้เกิดคลินิกที่ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลซึ่งหมดอายุลงได้รับผลกระทบและอาจกระจายเป็นวงกว้างได้” ประธาน กมธ.สธ. สนช. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น