ศัลยแพทย์ ชี้ ผ่าตัดเสริมเต้านมฝัง “ไมโครชิป” ช่วยรู้ข้อมูล “ซิลิโคน” เสริมอึ๋ม แต่ไม่ช่วยติดตามความผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังอัปไซส์นม ทั้งเจลรั่วซึม การติดเชื้อ การเกิดพังผืด แนะคนผ่าตัดเสริมอกขอนัมเบอร์ซิลิโคนกลับมาด้วย ช่วยรู้ข้อมูลหาก “เต้าเก่า” ผิดปกติในอนาคตจนต้องเปลี่ยน “เต้าใหม่”
จากกรณีสมาชิกเว็บไซต์พันทิปหมายเลข 3432824 “ฟ้าช็อกโกแล็ฒ” หรือ “ฟ้า pantip” ได้มีการตั้งกระทู้การรีวิวทำศัลยกรรมเสริมเต้านมจากประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการใช้เทคโนโลยีการฝังไมโครชิป เพื่อตรวจเช็กความเสียหายของทรวงอกโดยไม่ต้องมาผ่า หรือมาลงมีดหมอซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยสาเหตุการเสริมเต้านมเนื่องจากการให้นมบุตร (อ่านเพิ่ม อย่างทันสมัย...สาวพันทิปรีวิวละเอียดยิบ เปิดอก “น้องนมป้ายแดงฝังไมโครชิพ”)
วันนี้ (16 มี.ค.) นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ ศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสร้าง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า เต้านมเทียมที่มีการฝังไมโครชิปไว้นั้น เท่าที่ติดตามพบว่า ไมโครชิปมีขนาดประมาณเพียงปลายขดลวด คือ ไม่ถึง 1 เซนติเมตร ข้อดีคือช่วยบอกหรือการันตีว่ามีการเสริมเต้านมเทียม หรือซิลิโคนลงไปในเต้านมจริงๆ และซิลิโคนที่ใส่ไปนั้นมีขนาดเท่าไร ลักษณะเป็นแบบไหน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นหลังการเสริมเต้านมก็จะช่วยให้ง่ายต่อการติดตาม หรือการแก้ไข เพราะจะทราบข้อมูลว่าเสริมเต้านมแบบใดมา แต่ก็ต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะของบริษัทที่ผลิตเต้านมเทียมฝังไมโครชิพในการใช้ตรวจติดตามอยู่ดี ซึ่งศัลยแพทย์ตกแต่งไม่ได้มีเครื่องมือนี้กันทั้งหมด
“ประโยชน์ของเต้านมเทียมฝังไมโครชิพเป็นเรื่องของความสบายใจมากกว่า แต่ไม่ได้เป็นการการันตีว่า เสริมแล้วผลจะดีกว่า หรือป้องกันการติดเชื้อได้ หรือการเกิดพังผืดขึ้นรอบๆ เต้านมเทียม ที่สำคัญไมโครชิปดังกล่าวยังไม่สามารถบอกหรือส่งสัญญาณได้ว่า เต้านมเทียมที่ใส่ไปเกิดความผิดปกติขึ้นจริงหรือไม่ เช่น ซิลิโคนแตก รั่ว ซึม เนื้อเจลผิดปกติ การเกิดพังผืดรอบๆ เต้านมเทียม หรือเกิดการติดเชื้อขึ้น ไมโครชิปไม่สามารถบอกเราได้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ส่วนใหญ่มักเกิดจากการใส่ขนาดของเต้านมเทียมที่ไม่เหมาะสม หรือใช้เทคนิคที่ไม่เหมาะสม เกิดการติดเชื้อ การเคลื่อนที่ของตำแหน่งซิลิโคนจากที่วางไว้มากกว่า” นพ.วิษณุ กล่าว
นพ.วิษณุ กล่าวว่า การศัลยกรรมเสริมเต้านมนั้น แนะนำว่า 1. ต้องพิจารณาสถานพยาบาลว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เป็นศัลยแพทย์ตกแต่งจริงหรือไม่ โดยต้องเลือกแพทย์ที่ทำให้แล้วมั่นใจว่าจะมีการติดตามดูแลได้ตลอดในระยะยาว เพราะเมื่ออนาคตหากเกิดความผิดปกติของเต้านมจะได้มีการตรวจติดตามได้ แต่ปัจจุบันมักพบว่า คนไข้จะไม่ทราบว่าแพทย์เป็นใคร เพราะสนใจเพียงแค่โปรโมชันแล้วไปทำ เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่สามารถติดตามได้ว่าใครเป็นผู้ทำให้ 2. ในการทำศัลยกรรมเสริมเต้านม ควรขอซีรีส์นัมเบอร์ของซิลิโคนที่เสริมเข้าไปจากสถานพยาบาลนั้นๆ กลับมาด้วย เพื่อในระยะยาวหากมีปัญหาเกิดขึ้น แพทย์ที่ทำการแก้ไขจะได้ทราบว่า เสริมเต้านมเทียมด้วยวัสดุอะไร ขนาดเท่าไร รูปทรงแบบใด เพราะส่วนใหญ่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต ผู้ป่วยมักจำไม่ได้ว่าเสริมเต้าแบบใดมา รวมไปถึงมักพบว่าเต้านมเทียมที่เสริมเข้าไปไม่ได้ตรงกับที่บอกไว้ คือไม่ได้ซื่อสัตย์กับลูกค้า บอกว่าทรงนี้ ลักษณะแบบนี้ ไซส์นี้ แต่ปรากฏว่าเมื่อมาแก้กลับไม่ใช่อย่างที่ตกลงกันไว้ เป็นต้น และ 3. หลังการศัลยกรรมคนไข้ต้องคอยดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองด้วยว่า รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไปหรือไม่ แข็งขึ้นหรือไม่ เบี้ยว หรือบวมแดงหรือไม่ หากผิดปกติให้รีบพบแพทย์
เมื่อถามถึงการให้นมบุตรกับการเสริมเต้านม นพ.วิษณุ กล่าวว่า การมีบุตรทำให้เต้านมขยายตัว และช่วงเป็นคุณแม่น้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป ซึ่งคนที่ยังไม่เคยศัลยกรรมเต้านมอาจใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงได้ หากจะศัลยกรรมเสริมเต้านมก็ควรมาพบศัลยแพทย์ตกแต่งเพื่อประเมินเนื้อเยื่อเต้านมว่าควรเสริมขนาเท่าไร โดยข้อแนะนำคือ ควรมาทำหลังจากหยุดการให้นมบุตร 3 - 6 เดือน และน้ำหนักตัวคงที่แล้ว 3 - 6 เดือน จึงควรทำศัลยกรรม เช่นเดียวกับคนที่เคยทำมาแล้วการให้นมบุตรก็อาจส่งผลให้รูปทรงของเต้านมที่เคยทำมาเปลี่ยนไปได้ ก็ต้องมาพบแพทย์เพื่อประเมินในการแก้ไขเช่นกัน