xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.สุเมธ” แนะผู้สูงวัยยึดหลัก “พอเพียง-ทศพิศราชธรรม” ดูแลกายจิต-มีคุณค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ดร.สุเมธ” แนะผู้สูงอายุยึดหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง - ทศพิธราชธรรม” ตาม “ในหลวงรัชกาลที่ ๙” ใช้ดูแลชีวิตบั้นปลายทั้งกายและจิต ช่วยพึ่งพิงตนเองได้ มีคุณค่า ไม่ยึดติด ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ย้ำ อย่าหยุดทำงาน จะทำให้ร่างกายหยุดทำงานไปด้วย เน้นทำจิตใจร่าเริง

วันนี้ (15 มี.ค.) ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมวิชาการที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) 16 องค์กร ครั้งที่ 4 หัวข้อ “ประชารัฐร่วมใจ สู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สูงวัยอย่างมีคุณค่า น้อมพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง” มีใจความโดยย่อว่า ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสูงวัยอย่างไม่รู้ตัว การเตรียมการรองรับจึงไม่ค่อยมีความสมบูรณ์นัก การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่า ต้องเริ่มจากที่ตัวผู้สูงอายุเอง ต้องดูแลทั้งกายและจิต ซึ่งปัจจุบันคนเรามักดูแลแต่ร่างกาย เอาร่างกายไปพักผ่อน แต่ไม่ดูแลจิตใจ จึงต้องดูแลทั้งกายและจิต ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงและทศพิธราชธรรม ตามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในการดูแลร่างกาย ซึ่งต้องใช้สติและการพิจารณามองสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญาว่า จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตหรือไม่ เช่น การกินต้องมีความพอดี อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อะไรที่เกินความจำเป็น รวมถึงไม่ยึดติดกับสิ่งของ เลิกผูกพันของที่จับต้องได้ เอาแค่พอเพียงต่อชีวิตความเป็นอยู่ เพราะส่วนเกินต่างๆ ล้วนเป็นของที่ไม่ได้ใช้ เรียกว่าใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท

“ส่วนเรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญ คือจิตต้องโปร่งใส อย่าสร้างความมืดมัวให้ตัวเอง โดยขอให้ยึดตามหลักทศพิธราชธรรม ที่ประกอบด้วย ทาน ศีล ปริจาคะ อาชวะ มัททวะ ตบะ อักโกธะ อวิหิงสา ขันติ และ อวิโรธนะ เพราะอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกิดจากตัวเราสร้างเองทั้งนั้น ทั้งโกรธ เกลียด ความอยาก เช่น กรณีถูกเรียกว่าป๋าแล้วไปตบหน้าบ๋อย ซึ่งเมื่อมีความโกรธก็ทำให้ทุกอย่างดีๆ ที่เคยสะสมมาหายไปหมด ดังนั้น เมื่อเราสร้างขึ้นมาเองก็ต้องรักษาเอง สะกดจิตตัวเอง สลัดทุกอย่างที่ไร้สาระ เพราะเวลาที่อยู่บนโลกนี้สั้นลง ก็อย่าเสียเวลาไปคิด ยิ้มให้คนต่างๆ จะดีกว่า นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรหาโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่ทำได้ เช่น เรื่องของทาน กับปริจาคะ คือ การให้ และการเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อส่วนรวม เช่น บริจาค 5 - 10 บาท แต่ช่วยให้ได้โรงพยาบาลที่ใหญ่ขึ้น โรงเรียนที่ใหญ่ขึ้น เป็นต้น เหมือนที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสกับผม เมื่อครั้งที่ผมอายุ 72 ปี แล้วกราบพระบาทขอพระราชทานพร ซึ่งพระองค์มีพระราชดำรัส ว่า ให้มีร่างกายแข็งแรงนะ เพื่อทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ ก็จะทำให้เป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณค่า ที่สำคัญอีกประการที่ควรยึดไว้ คือ “อวิโรธนะ” คือ การดำรงอยู่ในความถูกต้องเสมอ หรืออยู่ในธรรม ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งธรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ ต้องดีและถูกต้อง เพราะบางอย่างดีแต่ไม่ถูกต้อง บางอย่างถูกต้องแต่ไม่ดี เป็นต้น” ดร.สุเมธ กล่าว

ดร.สุเมธ กล่าวว่า นอกจากนี้ ผู้สูงอายุไม่ควรหยุดทำงาน เพราะเมื่อไรที่หยุดทำงาน ร่างกายก็จะหยุดตาม เพราะร่างกายจะนึกว่าไม่ใช้แล้ว แต่เพียงแค่อย่าประมาทเท่านั้น ซึ่งการที่ตนยังสุขภาพแข็งแรงทุกวันนี้ก็เพราะยังทำงานอยู่ ซึ่งเมื่อครั้งตอนอายุ 60 ปี ได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเรื่องเกษียณ พระองค์ก็ทรงดุว่าเกษียณหรือ หยุดหรือ ซึ่งพระองค์มีพระชนมพรรษา 72 พรรษาแล้ว ก็ยังทรงงาน นับจากนั้นตนก็ไม่มีคำว่าเกษียณหลุดออกมาอีกเลย ก็ทำงาน 7 วันไม่มีวันหยุด ทำงานเหมือนกันหมดทุกวัน ไม่มีวันเสาร์ อาทิตย์ ไม่มีวันเกิด แต่หากร่างกายไม่ไหวเมื่อไรร่างกายก็จะบอกเองแล้วค่อยเข้าโรงซ่อม ซึ่งเมื่อครั้งอายุ 72 ปี ตนก็ขอพระราชทานพร พระองค์ก็ทรงนำพระหัตถ์มาเขย่าที่ไหล่แล้วมีพระราชดำรัส ว่า “สุเมธงานยังไม่เสร็จนะ” 3 หน ซึ่งพรสุดท้ายของพระองค์ก็ยังทรงกำชับว่างานยังไม่เสร็จ ถือเป็นคำสั่งสุดท้ายที่พระองค์พระราชทาน ดังนั้น การหยุดงานไปพักผ่อนจึงไม่มีอยู่ในสมอง ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงไม่ควรหยุดงาน และควรมีอารมณ์ขันตลอดเวลา ซึ่งพระองค์เคยรับสั่งว่า หากทำงานไม่สนุกก็จะเบื่อ จึงต้องสนุกตลอดเวลา โดยยึดหลัก “ร่าเริง รื่นเริง คึกคัก ครึกครื้น” คือ ตัวเราต้องร่าเริง และเมื่อเข้าไปที่ไหนก็จะทำให้บรรยากาศรื่นเริงขึ้นด้วย ก็จะส่งผลให้เกิดคึกคักและครึกครื้น

ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรเจริญมรณานุสติว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา เพื่อปลงต่อชีวิต ซึ่ง นพ.วิรัช มรรคดวงแก้ว เคยบอกกับตนว่า ให้อยู่อย่างสง่าและตายอย่างสงบ เพราะพอถึงเวลาบางคนยังทุรนทุรายห่วงหลายสิ่ง ปลงไม่ตก สั่งเสียหลายสิ่ง แต่สุดท้ายเอาไปไม่ได้สักชิ้น อย่างข้าราชการมีซีต่างๆ ไม่ว่าซีสูงเท่าไร สุดท้ายก็กลับมาที่ซีโร หรือซีศูนย์ เพราะเราเริ่มต้นชีวิตอย่างไร สุดท้ายก็วนกลับมาที่เดิม ดังนั้น ไม่ว่าชื่อตำแหน่งแห่งหน เกียรติยศสูงแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องส่งคืน สิ่งเดียวที่ไม่ต้องคืนคือ ความเป็นตัวตนของเราว่า ตัวตนเราประกอบคุณงานความดีหรือความชั่วไว้หรือไม่ ก็จะมีคนพูดถึงหลังเสียชีวิต

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะประธาน ทอพ. กล่าวว่า การเข้าสู่สังคมสูงวัย พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเป็นอันดับ 2 คือ อยู่ที่ 16% หรือ 10.3 ล้านคน โดยคาดว่า 4 ปีข้างหน้าไทย จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 20% ส่งผลให้อัตราการพึ่งพิงหนักขึ้น เป็นผู้สูงอายุ 1 คน ต่อวัยแรงงาน 3.2 คน นอกจากนี้ เมื่อดูในส่วนของหลักประกันรายได้ยามเกษียณอายุ พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โจทย์ใหญ่ที่ตามมา คือ แรงงานไทย 63% ที่ไม่อยู่ระบบการออมเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ยามเกษียณ และยังพบกับดักมนุษย์เงินเดือน โดยรายจ่ายของมนุษย์เงินเดือนสูงกว่าเงินสนับสนุนของรัฐขั้นพื้นฐานจากประกันสังคมและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเมื่อเกษียณ อยู่ที่ 8,100 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอหากไม่มีการออมสมทบ รวมถึงระบบรองรับข้อมูลด้านสุขภาพและด้านสังคม ซึ่งหากยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุพึ่งตนเองได้ เกิดการออมซึ่งไม่ใช่แค่เพียงแค่เงิน แต่ออมในส่วนของสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต เช่น พืชผัก น้ำ หรืออย่างผู้สูงอยุในเมืองก็พึ่งพิงตนเองมากขึ้น ลดการพึ่งพิงจากภายนอกลง

“ทอพ. มุ่งหวังการพัฒนาประเทศใน 4 มิติ ได้แก่ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และกองทุนสนับสนุน โดยปีนี้มี สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพิ่มเข้ามาเป็นองค์กรที่ 16 ทำให้เพิ่มมิติการทำงานด้านที่ 5 คือ ด้านสื่อ ซึ่งในการทำงานร่วมกันด้านพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย ก็จะมีทั้งการจัดระบบและบริการสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ การศึกษาวิจัยและการจัดการความรู้ การพัฒนานโยบายสาธารณะและสร้างเครือข่าย การพัฒนามาตรฐาน และการสื่อสารสังคม เพื่อรองรับสังคมสูงวัยให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ” ดร.สุปรีดา กล่าว

รศ.ดร.อดิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ ประธานคณะทำงานด้านการจัดการความรู้และประชุมวิชาการ ทอพ. กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีช่องว่างในการเตรียมความพร้อมของประชากร และการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการเข้าสู่งสังคมสูงวัย อาทิ ด้านสุขภาพ พบว่าผู้สูงอายุ 95% มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และมีโอกาสเกิดโรคประจำตัวสูงขึ้นในบั้นปลาย ส่วนด้านเศรษฐกิจ พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 34 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน และมีเพียง 1.5 ล้านคน ที่อยู่ในระบบการออมเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ยามเกษียณ จากประชากรวัยทำงานกว่า 40 ล้านคน รวมถึงผลกระทบด้านสังคม ที่พบว่ามีผู้สูงอายุอยู่เพียงลำพังคนเดียว หรือลำพังกับคู่สมรสเพิ่มขึ้น คนรุ่นใหม่มีทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูงอายุ

กำลังโหลดความคิดเห็น