xs
xsm
sm
md
lg

อย่ามองข้าม “โรควัณโรคปอด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
ภาควิชาอายุรศาสตร์
โรควัณโรคปอด เป็นโรคติดต่อและแพร่เชื้อกันได้ง่ายมาก การดูแลผู้ป่วยและคนใกล้ชิด จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อลดโอกาสการติดต่อไปยังผู้อื่น จะมีวิธีป้องกันอย่างไรนั้น เรามาทำความรู้จักกัน
วัณโรคติดต่อได้ทางการหายใจ จากการติดเชื้อโรคที่เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โดยการสูดหายใจเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อปล่อยออกมาจากการไอ จาม พูด หัวเราะ หรือร้องเพลง ซึ่งเชื้อสามารถ อยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง
ส่วนใหญ่มักเกิดโรคที่ปอด แต่ก็พบที่อวัยวะอื่นได้ เช่น ต่อมน้ำเหลือง หรือกระดูก ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับเชื้อจากคนใกล้ชิดในครอบครัว หรือในที่สาธารณะจากผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อรายอื่น กลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี หรือ ไตวายเรื้อรัง เมื่อได้รับเชื้อจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้มากกว่าคนปกติหลายเท่า
ผู้ป่วยวัณโรคปอดจะมีอาการไอโดยมีเสมหะหรือไม่ก็ได้ บางรายจะไอเป็นเลือดได้มักจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือมีไข้ร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการของวัณโรคนอกปอดไปพร้อมกัน เช่น มีก้อนที่คอ หรือปวดกระดูก ดังนั้น ถ้าท่านมีอาการไอติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ร่วมกับมีอาการอื่นๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และทำการตรวจค้นหาในกรณีที่เข้าข่ายเป็นวัณโรคได้ โดยการเอกซเรย์ปอดร่วมกับการตรวจหาเชื้อวัณโรคจากเสมหะ
เมื่อวินิจฉัยวัณโรคปอดได้แล้ว แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้กินยาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งถ้าเชื้อไม่ดื้อยาและผู้ป่วยกินยาสม่ำเสมอ จะหายขาดเกือบทั้งหมด แต่ในรายที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือ มีโรคเรื้อรังรุนแรงอยู่เดิม เมื่อหายแล้วต้องคอยรักษาสุขภาพ และโรคที่มีอยู่เดิมให้ดีเพื่อป้องกันการกลับเป็นวัณโรคซ้ำได้
เนื่องจากโรคนี้ติดต่อแพร่เชื้อกันได้ง่ายมาก จึงควรระวังเป็นพิเศษ สำหรับผู้ป่วยควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด โดยการกินยาให้ครบ ไม่หยุดยาเองเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เชื้อดื้อยาได้ เวลาไอจามต้องปิดปากและจมูกให้มิดชิด ถ้ามีเสมหะต้องบ้วนใส่ภาชนะที่มิดชิด แล้วเททิ้งในโถส้วม การกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะและพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว คนที่สูบบุหรี่ หรือดื่มสุราอยู่ก็ต้องงดด้วย เพื่อให้โรคหายขาดได้ดีขึ้น ส่วนผู้ใกล้ชิดควรช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกินยาอย่างสม่ำเสมอ และช่วยสนับสนุนให้ผู้ป่วยมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ควรจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และมีแสงแดดส่องถึง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยในระยะใกล้ชิดในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการกินยา หรือถ้าผู้ป่วยยังไอมากอยู่ แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ววัณโรคปอดไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายหรือรักษาไม่หาย จึงไม่ควรรังเกียจผู้ป่วยวัณโรค อีกทั้งต้องรักษาสุขภาพโดยทั่วไปให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด เพื่อไม่ให้วันหนึ่งต้องกลายมาเป็นผู้ป่วยวัณโรค
***********

กิจกรรมดี ๆ ที่ศิริราช
#จัดกิจกรรม “12 ปีกับความก้าวหน้าของการดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในศิริราช” (ฟรี) ในวันที่19 มีนาคม 2560 เวลา 08.00 - 13.00 น. ณ ห้องอทิตยาทรกิติคุณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 รพ.ศิริราช ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมและฟังบรรยายจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลตนเองและดูแลคนในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคนี้ได้อย่างถูกต้อง สอบถามและลงทะเบียน โทร. 09 8282 7528, 0 2232 4786 (ศศินันท์ วรเศรษฐสิงห์)

#เสวนาให้ความรู้ SIRIRAJ GI HEALTH DAY: โรคกรดไหลย้อนและโรคแผลในกระเพาะอาหาร (ฟรี) ในวันที่ 20 มีนาคม 2560 เวลา 07.30 - 13.00 น. ณ โถงอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช ภายในงานยังมีบริการตรวจสมรรถภาพร่างกายเจาะเลือดตรวจคัดกรองเบาหวานเบื้องต้น (งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชม.) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยระบบทางเดินอาหาร โทร. 0 2419 7281 ต่อ 101, 102, 105
กำลังโหลดความคิดเห็น