xs
xsm
sm
md
lg

กิน “ยา” แบบผิดๆ ทำคนไทยป่วยโรคไตเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์ชี้กิน “ยา” แบบผิดๆ ทำคนป่วยโรคไตมากขึ้น ห่วงกลุ่มยาเอ็นเสดทำไตพัง พบในยาชุด สมุนไพรเถื่อน ยาจีนเกลื่อนท้องตลาด กินมากถึงไตวายตาย จี้ อย. เร่งจัดการ 6 เรื่อง

วันนี้ (9 มี.ค.) ที่ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแถลงข่าว “ยาที่เป็นอันตรายต่อไต” เนื่องในวันไตโลก ศ.นพ.ชัยรัตน์ ฉายากุล อายุรแพทย์โรคไต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และประธานอนุกรรมการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล กล่าวว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังสูงถึง 8 ล้านคน คิดเป็น 17% ของประชากร สูงติดอันดับ 3 ในอาเซียน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่เกิดจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง แต่ปัญหาคนไข้ไตที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง ไม่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะเชื่อว่าการกินยามากๆ จะไปกระทบไต หรือเบื่อหน่ายในการกินยา นอกจากนั้น ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคไตด้วยสาเหตุจากการใช้ยาโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่กินยาแก้ปวดแก้อักเสบชนิดไม่ใช่ สเตียรอยด์ หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) มาเป็นเวลานาน ยาฆ่าเชื้อบางชนิด หรือยาจีน - ยาไทย ที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด ซึ่งในบางครั้งจะทำให้ไตเสื่อมมากขึ้นหรือหยุดทำงานได้

“การดูแลและป้องกันปัญหาโรคไต มี 4 หลักที่ควรทำเพื่อถนอมไต คือ ควรกินยารักษาอย่างต่อเนื่อง ควรสอบถามจนเข้าใจถึงยาทึ่กินอยู่ ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าเป็นโรคอะไร และควรมีรายชื่อยาที่ใช้อยู่เป็นประจำพกติดตัวไว้เมื่อมาพบแพทย์ ส่วนหลัก 4 ไม่ เพื่อป้องกันผลเสียของยาต่อไต คือ ไม่ควรหยุดยาเอง ไม่ควรซื้อยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ หรือยาบำรุงอาหารเสริมมากินเอง ไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาในการกินยาที่ไม่รู้จัก และไม่ควรกินยาของผู้อื่น หากใช้ยาได้ถูกต้อง สมเหตุผล ปัญหาเรื่องไตก็จะลดลงมาก” ศ.นพ.ชัยรัตน์ กล่าว

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล กล่าวว่า ยากลุ่มเอ็นเสดเป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อลดอาการปวด บวม แดง ร้อน มีที่ใช้หลากหลาย เช่นใช้บรรเทาปวดจากโรคเกาต์ ไมเกรน ข้อเข่าเสื่อม ปวดประจำเดือน และการปวดทางทันตกรรม เป็นต้น ยากลุ่มนี้หลายคนใช้ในชีวิตประจำวัน หากใช้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ไตเสื่อมไตวาย จึงต้องใช้ให้ถูกขนาดหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ใช้ต่อเนื่องนานๆ ต้องมีการตรวจติดตามการทำงานของไต และหลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่เป็นโรคไตอยู่เดิม แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามีการใช้ยาเหล่านี้อย่างพร่ำเพรื่อทั้งในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน ตลอดจนร้านขายยา รวมไปถึงการขายยาตามร้านชำและรถเร่ ในรูปแบบของ “ยาชุด” ซึ่งมีเอ็นเสดมากกว่า 1 ชนิดในยาชุดแต่ละซอง เป็นการซ้ำเติมให้เกิดพิษต่อไตอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น จึงควรควบคุมการใช้เอ็นเสดให้เป็นไปอย่างสมเหตุผลในการจ่ายยานี้จากทุกแหล่ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้เรื่องการใช้ยาสมเหตุผลเป็นสาขาที่ 15 ของแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า งบประมาณในการล้างไตสูงขึ้นทุกปี ในปีงบประมาณ 2561 สูงถึง 8,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยาต่างๆ มีจำนวนไม่น้อย โดยการใช้ยาที่ส่งผลต่อโรคไต เช่น ยาชุดผสมสเตียรอยด์และยาต้านการอักเสบเอ็นเสด การฉีดยาต้านอักเสบที่ไม่ถูกต้อง มีการอนุญาตทะเบียนยาที่อ้างบำรุงไต หรือล้างไตที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยอาจละเลยการดูแลไตจนโรคลุกลาม การกระจายของยาสมุนไพรแผนโบราณที่นำเข้าและลักลอบใส่ยาต้านอักเสบ กพย. ขอเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาดังนี้

1. เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยากับปัญหาการเกิดโรคไตแก่ประชาชนและสังคม 2. จัดทำข้อมูลเพื่อเตือนภัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอมปนสเตียรอยด์ หรือเอ็นเสด ผ่านระบบ Single Window 3. มีการทบทวนทะเบียนตำรับยา ถอนทะเบียนยาที่ไม่มีประสิทธิผล หรือที่ไม่เหมาะสมเป็นอันตราย หรือจัดประเภทยาใหม่ เช่น ยาต้านอักเสบชนิดฉีด ต้องปรับให้เป็นยาควบคุมพิเศษ 4. จัดระบบเฝ้าระวังโรคไต ทั้งในโรงพยาบาลและในชุมชน เพื่อค้นหาสาเหตุ กำหนดวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหา 5. จัดระบบการควบคุมการกระจายยากลุ่มเสี่ยงทั้งยาชุด ยาตำรับไม่เหมาะสมให้เข้มงวดมากขึ้น ว่า ทำไมยาจึงออกจากโรงงานผลิต ไปอยู่ในยาชุดขายในชุมชน 6. การส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสมของบุคลากรการแพทย์ จำเป็นต้องนำฐานข้อมูลการใช้ยาที่มีอยู่เพื่อชี้เป้าปัญหาการใช้ยา ลดปัญหาการจ่ายยาเอ็นเสดซ้ำซ้อน รวมทั้งการเฝ้าระวังปัญหากรณีผู้ป่วยที่เกิดโรคไตจากการใช้ยาเข้ามารักษา

วันเดียวกัน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รณรงค์คัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไต ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยการตรวจเลือดและโปรตีนในปัสสาวะ เพื่อประเมินความสามารถในการทำงานของไต วินิจฉัยโรคให้ได้ตั้งแต่ระยะแรก จัดระบบการรักษาในโรงพยาบาลให้เหมาะสมกับระยะการเจ็บป่วย ด้วยทีมสหวิชาชีพ และติดตามดูแลรักษาผู้ป่วยลงไปในชุมชนด้วยทีมหมอครอบครัว เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย “รู้เร็ว รักษาเร็ว” โดยเปิดบริการคลินิกชะลอไตเสื่อมในโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่กว่า 30 เตียงขึ้นไปทุกแห่ง ตั้งเป้าขยายบริการไปในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กอย่างน้อยร้อยละ 50 ในปี 2560


กำลังโหลดความคิดเห็น