xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ สพฉ.เร่งเคลียร์นิยาม “เจ็บป่วยวิกฤต” รักษาฟรี พัฒนาคนโทร.แจ้งเหตุไวขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เลขาธิการ สพฉ. คนใหม่ เผยแนวโน้มเจ็บป่วยฉุกเฉินเพิ่มขึ้น แต่เข้าถึงบริการน้อย ชี้ เจ็บป่วยวิกฤตเข้าถึงบริการแค่ 10% เร่งพัฒนางานแพทย์ฉุกเฉิน ปชช. โทร.แจ้งไว ช่วยชีวิตเบื้องต้นเป็น เดินหน้าเคลียร์นิยาม “เจ็บป่วยวิกฤต” ป้องกัน ปชช. เข้าใจผิดฉุกเฉินธรรมดาว่ารักษาฟรี

วันนี้ (9 มี.ค.) ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) คนใหม่ แถลงข่าวทิศทางการทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินของไทย ว่า สถานการณ์ผู้ป่วยฉุกเฉินของไทยมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ป่วยฉุกเฉิน 12 ล้านคน จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยวิกฤตถึง 4 ล้านคน ขณะที่การเข้าถึงการบริการนั้น ในปี 2556 - 2558 พบว่า มีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าถึงการบริการ 1.3 ล้านคน ผู้ป่วยวิกฤตมีเพียง 4 แสนคน ที่เข้าถึงบริการ คิดเป็นร้อยละ 10 ดังนั้น อีกร้อยละ 90 ที่เหลือยังต้องการระบบการแพทย์ฉุกเฉินเข้ามาให้บริการ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่บริการการแพทย์ฉุกเฉินภาคพื้นดินเท่านั้น ยังรวมไปถึงการกู้ชีพทางน้ำและการขนส่งทางอากาศด้วย

“ปัญหาของการใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินน้อย คือ การ โทร.แจ้งเหตุช้า ไม่รู้ว่าต้อง โทร.หรือต้องโทร.เบอร์ไหน หรือบางส่วน โทร.แล้วไม่มีการดำเนินการใดต่อ รอแต่รถฉุกเฉินมาช่วยอย่างเดียว โดยไม่มีการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น เช่น การปั๊มหัวใจ หรือการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจ (AED) ขณะที่รถฉุกเฉินซึ่งไม่มีใครอยากมาช้า แต่ก็ยังมีอุปสรรคเรื่องของรถติด ทั้งหมดนี้ก็ต้องมีพัฒนา เช่น ทำให้ประชาชนรู้ถึงภาวะฉุกเฉิน และ โทร.แจ้งเหตุฉุกเฉินมากขึ้น มีการจัดทำอาสาชุมชนเป็นหน่วยปฐมพยาบาล รวมไปถึงจะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาระบบการแจ้งเหตุฉุกเฉินไปให้ชุมชนท้องถิ่นดำเนินการ ซึ่งจะดำเนินการรับแจ้งเหตุทุกเรื่อง ทั้งเหตุด่วนเหตุร้าย การแพทย์ฉุกเฉิน หรือไฟไหม้ ซึ่งในอนาคตการดำเนินงานตรงนี้จะรองรับเรื่องของเบอร์ โทร.ฉุกเฉิน 112 ที่มีการผลักดันให้เป็นเบอร์ โทร.หลักของประเทศในการรับแจ้งเหตุทุกเรื่องแล้วค่อยประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การแพทย์ฉุกเฉิน ค่อยส่งมา 1669 เป็นต้น และจะรองรับเรื่องของการระบุพิกัดของผู้ โทร.แจ้งด้วย ซึ่งตรงนี้สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ส่วนกรณีปัญหาการแจ้ง 1669 ในปัจจุบันที่ต้องมีการสอบถามรายละเอียดหลายเรื่อง รวมถึงจุดที่เกิดเหตุนั้น ซึ่งหลายคนห่วงว่า ทำให้เสียเวลา จริงๆ แล้วการแจ้งพิกัดผ่านการโทร. 1669 ในแง่ของเทคโนโลยีสามารถทำได้อยู่แล้ว ไม่มีปัญหา แต่ติดขัดเรื่องกฎหมายความเป็นส่วนตัวทำให้ไม่สามารถทำได้ แต่หากเป็นแอปพลิเคชัน EMS 1669 ที่ โทร.แจ้งเหตุผ่านแอปพลิเคชันนั้น จะมีการให้ผู้ โทร.กดยินยอมในการแจ้งพิกัดผ่านจีพีเอสก่อน ดังนั้น จึงสามารถแจ้งพิกัดได้เลยว่าที่เกิดเหตุอยู่จุดใด

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า สำหรับนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ต้องรอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกกฎหมายลูกภายใต้ พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ให้เรียบร้อยก่อน จึงมีผลบังคับใช้รักษาฟรีของการเจ้บป่วยฉุกเฉินวิกฤตช่วง 72 ชั่วโมงแรก ส่วนที่ผ่านมาที่มีปัญหาเรื่อง รพ.เอกชน เรียกเก็บค่ารักษา ส่วนหนึ่งมาจากประชาชนยังไม่เข้าใจนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต เช่น ปวดท้องประชาชนเข้าใจว่าเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่แพทย์อาจวินิจฉัยว่าไม่ใช่ เพราะอาการปวดท้องมีหลายอย่าง เมื่อไม่เข้าใจก็ทำให้เกิดการร้องเรียน ดังนั้น จึงต้องทำให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องดีที่ประชาชนเห็นความสำคัญของการเจ็บป่วยแล้วรีบมาพบแพทย์ ซึ่งหากไป รพ.รัฐ ก็ไม่มีปัญหาว่าจะเป็นฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน เพราะกองทุนแต่ละกองทุนสามารถตามจ่ายได้ แต่เมื่อเข้า รพ.เอกชน หากเป็นเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตก็จะเข้าเกณฑ์ แต่หากไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต ประชาชนก็ต้องยอมรับคำวินิจฉัย ทางเลือกมี 2 ทาง คือ 1. เสียเงินแล้วรักษาที่เดิม หรือ 2. ย้ายไปยัง รพ. ที่ตนเองมีสิทธิ

“ขณะนี้จะมีการนำมาพิจารณาว่า จะทำอย่างไรให้คำนิยามว่า เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีแดง เข้าใจทั้งแพทย์และคนไข้ เพราะที่ผ่านมาใช้ศัพท์เทคนิคเยอะมาก เพราะต้องให้แพทย์เข้าใจอย่างละเอียด เช่น ค่าออกซิเจนต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น การเปิดเผยเพื่อให้คนไข้ทราบอาจทำให้ไม่เข้าใจ แต่เรื่องนี้ก็จะนำมาพิจารณาหาทางออกว่า จะทำอย่างไรต่อไป” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น