กกจ. เร่งร่าง พ.ร.ก. บริหารจัดการการทำงานต่างด้าว เพิ่มการคุ้มครองต่างด้าวถูกเอาเปรียบ เพิ่มโทษนายจ้างทำผิดกฎหมาย ดึงประชาสังคมมีส่วนร่วม ป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และ พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 ยังไม่ครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้ทั้งระบบ ส่งผลให้ไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวได้ และหากไม่แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านแรงงาน เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนั้น กกจ. จึงร่าง พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ... ขึ้น เพื่อจัดระเบียบ ป้องกัน คุ้มครอง เยียวยา และบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ โดยได้รวมกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวไว้เป็นฉบับเดียว โดยเติมส่วนที่ขาดและแก้ส่วนที่บกพร่อง
นายวรานนท์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวมีสาระสำคัญ เช่น คนต่างด้าว หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับความเสียหายจากการที่นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง เช่น ลักษณะงานไม่ตรง ค่าจ้างไม่ตรง สภาพการจ้างไม่ตรง เป็นต้น ให้อธิบดี กกจ. หักหลักประกันจากผู้รับอนุญาตเพื่อคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้แก่นายจ้าง หรือคืนเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งกลับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นตามความจำเป็นให้แก่คนต่างด้าว หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบ เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว หรือกรณีคนต่างด้าว หรือนายจ้างประสงค์จะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการเกี่ยวกับการขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าวแทนตน ให้มอบอำนาจเป็นหนังสือแก่ตัวแทนซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทนได้เท่านั้น เว้นแต่บุคคลที่รับมอบอำนาจนั้นเป็นทายาทโดยธรรม คู่สมรส หรือผู้มีส่วนได้เสียของนายจ้างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้อำนาจประกาศ Blacklist นายจ้างผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ก. นี้ โดยมิให้ออกใบอนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าวทำงานกับนายจ้างรายนั้นอีกไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันที่มีประกาศรายชื่อดังกล่าว และปรับเพิ่มโทษให้สูงขึ้นและสอดคล้องกับกฎหมายอื่น อาทิ ผู้ที่มีพฤติกรรมการค้ามนุษย์ เช่น การยึดเอกสารต่างๆ ของคนต่างด้าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นายจ้างใดรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่แสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน นอกจากนี้ ยังปลดล็อกอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เพื่อให้สอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ และข้อตกลงทวิภาคี พหุภาคี เป็นต้น
“ร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติบางประการที่ยังไม่สมบูรณ์ ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และอุดช่องว่างของกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก. แล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” นายวรานนท์ กล่าว