xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสัญญาณเตือน “จอประสาทตาเสื่อม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมอเตือน “ผู้สูงวัย” เสี่ยงจอประสาทตาเสื่อม สัญญาณเตือนตามัวลง มองเห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นเส้นตรงเป็นเส้นคด มองเห็นสีลดลง ชี้ รักษาไม่หายขาดแต่ชะลอความเสื่อมได้

นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จอประสาทตาเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมในส่วนกลางของจอประสาทตา ซึ่งจะเกิดเมื่อมีอายุมากขึ้น และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสามารถในการมองเห็นของผู้สูงอายุลดลง โรคนี้มักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จึงมักเรียกว่าจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุ แต่จอประสาทตาเสื่อมอาจจะพบได้ในผู้ที่มีอายุน้อย ซึ่งมักพบในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม คือ มองเห็นภาพบิดเบี้ยว มองเห็นเส้นตรงเป็นเส้นคด มองไม่เห็นส่วนกลางของภาพ การมองภาพต้องใช้แสงเพิ่มมากขึ้น และการมองเห็นสีลดลง ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม คือ อายุ จะพบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี พันธุกรรม โดยร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมาก่อน พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบมากในผู้ที่สูบบุหรี่ โดยจะมีโอกาสเป็นโรคนี้เร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 10 ปี

นพ.ปานเนตร กล่าวว่า จอประสาทตาเสื่อมมี 2 ชนิด คือ แบบที่ 1 แบบแห้งหรือแบบเสื่อมช้า เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด โดยเซลล์จอประสาทตาจะค่อยๆ เสื่อมไปอย่างช้าๆ การมองเห็นจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น แบบที่ 2 แบบเปียกหรือแบบเร็ว พบร้อยละ 10 - 15 ของโรคจอประสาทตาเสื่อม โดยจะเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็วทันที เป็นผลจากจุดกลางรับภาพจอประสาทตาบวม และ/หรือมีเลือดออกที่จอประสาทตา ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคนี้ให้หายขาด แต่สามารถหยุดหรือชะลอ เพื่อให้จอประสาทตาเสื่อมช้าที่สุด โดยมีวิธีการรักษา ได้แก่ การฉีดยา การใช้เลเซอร์พลังงานต่ำและสารไวแสง เลเซอร์พลังงานสูง และหลายวิธีร่วมกัน ซึ่งการรักษาในแต่ละวิธีมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน เพราะร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนตอบสนองต่างกัน ดังนั้น ก่อนการรักษาจักษุแพทย์ ผู้ป่วย ญาติ ควรพูดคุยกันเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุด

“โรคจอประสาทตาเสื่อมแม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้โดย หมั่นตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวมีภาวะจอประสาทตาเสื่อม งดสูบบุหรี่ เลือกรับประทานอาหาร ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ ผักใบเขียว และผลไม้ เป็นต้น จะสามารถป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้” นพ.ปานเนตร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น