จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย ต่างชาติ หลั่งไหลมาเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เพิ่มขึ้นทุกปี เพราะเสียงร่ำลือว่าหมู่เกาะบริเวณนี้ปะการังยังคงความสมบูรณ์ สวยงาม หาดทรายขาว ขณะที่นักธุรกิจเร่งสร้างรีสอร์ตให้เพียงพอกับนักท่องเที่ยว แน่นอนการขยายรีสอร์ตโดยไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาควบคุมส่งผลให้ดูระเกะระกะ ที่สำคัญ ชาวเลซึ่งเป็นคนท้องถิ่นได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม
นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ เพื่อตรวจเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้ ทางวัฒนธรรมและชุมชนวัฒนธรรมสังเกตเห็นชาวบ้านในชุมชน นำทุนวัฒนธรรม และทรัพยากรมาใช้ในการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวจนเกิดการสร้างรายได้ ทั้งการผลิตสินค้าที่ระลึกจากเปลือกหอย การย้อมผ้า การทำอาหารตากแห้ง การทำประมง นำมาจำหน่ายบนเกาะ สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าชาวเลอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นบางส่วนเอาไว้
พร้อมกันนี้ ยังได้พบปะผู้บริหาร ครู โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง ตัวแทนชาวเล ได้สะท้อนความห่วงใยที่เกิดขึ้นภายในเกาะ ซึ่งเกิดจากกลุ่มนายทุนที่เข้ามาสร้างรีสอร์ต จนเกิดความเจริญ มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น จึงก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งยาเสพติด การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวเล การดูแลภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมดั้งเดิม และ การเกิดปัญหามีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร จึงขอให้ สวธ. ช่วยผลักดันให้เกิดลานวัฒนธรรมขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวเล ได้ศึกษา เรียนรู้ อัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงดูแลอนุรักษ์วัฒนธรรมของตนเองให้คงอยู่ โดยได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ ครูภูมิปัญญา ก่อนที่สิ่งดีๆ ของชุมชนสูญหาย อย่างไรก็ตาม สวธ. ยินดีให้การสนับสนุนโดยขอให้รวบรวมข้อมูลและจัดทำรายละเอียดเสนอมายังสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล
นางแสงโสม หาญทะเล ครู คศ.1 หลักสูตรท้องถิ่น อัตลักษณ์ชาวเล โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง เล่าว่า กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ขอให้ สวธ. สนับสนุนการสร้างลานวัฒนธรรม เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตชาวเล ซึ่งขณะนี้พื้นที่เกาะเกือบทั้งหมดเป็นของกลุ่มนายทุน แต่เราต้องการพื้นที่แสดงออกถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม รวมทั้งให้นักท่องเที่ยวรู้จักชีวิตชาวเลด้วย เราไม่ต้องการให้ใครเปลี่ยนวิถีชีวิต แต่อยากเอาวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษกลับคืนมา จึงอยากจะถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความรู้ด้านยา ทรัพยากรธรรมชาติ พืชสมุนไพรในป่า หรือในทะเลที่นำมาใช้รักษาโรค ทั้ง ผักบุ้งทะเล และ หอยเม่น หรือการแสดง รองเง็ก ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้ใกล้สูญหายไป ดังนั้น กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ อยากมีพื้นที่เผยแพร่ความรู้ และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษถ่ายทอดให้คงอยู่สืบไป
นางแสงโสม กล่าวว่า ปัจจุบันวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามาก ฝรั่งนุ่งบิกินี กางเกงชั้นใน เดินผ่านโรงเรียน นอนอาบแดดตามชายหาด เกรงว่า วัฒนธรรมตะวันตกจะแทรกซึมถึงเด็กๆ จนทำให้เด็กชินชากับการหวงแหนตัวเอง อีกทั้งเทคโนโลยี ผับ บาร์ เข้ามาในชุมชนมากขึ้น ห่วงว่า เด็กจะไม่รักนวลสงวนตัว ทางโรงเรียนจึงหามาตรการเฝ้าระวังด้วยการประชุมผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองเป็นหูเป็นตาไม่ให้เด็กเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพศสัมพันธ์ รวมทั้งเชิญเจ้าหน้าที่อนามัย ตำรวจ มาช่วยคัดกรองเด็ก ด้วยการมาตรวจปัสสาวะ และอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์
ถ้าหากกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ได้รับการสนับสนุนลานวัฒนธรรม นอกจากจะเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ด้านภูมิปัญญา การแสดงวิถีชีวิตชาวเล แล้วยังวางแผนเนรมิตลานวัฒนธรรม เป็นการแสดงพื้นบ้าน โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสัมผัสด้วยการเต้นรำ ทุกวันศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์