การขี่จักรยานนอกจากจะช่วยให้สุขภาพดีแล้ว ยังสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และช่วยลดมลพิษที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย
นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันการเดินและจักรยานไทย ให้ข้อมูลว่า การเดินและการขี่จักรยาน คือ การคมนาคมที่สะดวกที่สุด ราคาถูกที่สุด เข้าถึงทุกพื้นที่ได้ดีที่สุด จากงานวิจัยของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พบว่า หากมีการส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ ร่วมกับการปรับปรุงการเชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการขนส่งอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พบว่า จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือสามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินได้ประมาณ 2,900 ล้านลิตร จะประหยัดงบประมาณได้ 86,507 ล้านบาท
ประเทศไทยจึงหันมารณรงค์ให้มีทางจักรยานเพิ่มมากขึ้น โดย นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.พยายามสนับสนุนการเดินและการขี่จักรยานให้เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเน้นส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบบริการสาธารณะ และสนับสนุนให้องค์กรทุกภาคส่วนจัดพื้นที่และกิจกรรมส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย
เพียงแต่ทางจักรยานของประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนัก สาเหตุหลักๆ เพราะโครงสร้างพื้นฐานไม่รองรับ การขี่จักรยานยังมีอันตราย ซึ่งสังเกตเห็นได้จากข่าวการประสบอุบัติเหตุของนักปั่นจักรยานที่เห็นอยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงเรื่องวินัยในการขับขี่จักรยาน และกฎหมายการจราจรทางบกที่ยังไม่ปฏิบัติตามอย่างจริงจัง
ส่วนแรกคือ โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เอื้อต่อการขี่จักรยาน ทั้งผังเมืองที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่สนับสนุนการเชื่อมต่อการเดินและการขี่จักรยาน ซึ่งเรื่องนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ย้ำว่า ทั้ง สนข. กรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวง และกรมการขนส่งทางบก มีความพร้อมในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อคนเดินเท้าและทางจักรยานให้มีความสะดวกสบาย และปลอดภัยเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งสาธารณะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้
สำหรับความปลอดภัยในการขี่จักรยาน ส่วนสำคัญหลักๆ คือ เส้นทางที่มีความปลอดภัย ความตระหนักและใส่ใจในการป้องกันอุบัติเหตุของคนขี่ รวมไปถึงความมีวินัยและเคารพกฎจราจรของผู้ขับขี่ด้วย ซึ่งจากงานวิจัย เรื่อง ศึกษาเส้นทางจักรยานและจุดเสี่ยงพื้นที่โดยรอบพุทธมณฑลและนโยบายในการจัดการความปลอดภัยในพุทธมณฑล โดย นายพฤกษ์ จิรสัตยาภรณ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาศึกษาทั่วไป บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธนบุรี พบว่า ยังคงมีปัญหาอยู่เช่นกัน
นายพฤกษ์ เผยว่า จากการศึกษาพฤติกรรมการขับขี่จักรยานของนักขับขี่จักรยานในพื้นที่พุทธมณฑล ในกลุ่มตัวอย่าง 350 ตัวอย่าง พบว่า ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมีความสัมพันธ์กับช่วงวันและเวลาที่มีคนมาขี่จักรยานมากที่สุด โดยวันเสาร์และอาทิตย์ เสี่ยงมากที่สุดร้อยละ 55.5 ช่วงเวลาเย็นเสี่ยงมากสุดร้อยละ 74.2 โดยปัญหาที่อาจเกิดอุบัติเหตุมาจาก สภาพร่างกายของนักขี่ เช่น สุขภาพ ความพร้อมด้านการใช้สัญญาณมือ เป็นต้น ความประมาทในการขับขี่ และสภาพถนนและสิ่งอำนวยความสะดวกในการขับขี่ ซึ่งพบว่า จุดเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ คือ บริเวณรอบองค์พระ บริเวณที่ไม่มีไฟส่องสว่าง บริเวณจุดจอดรถ บริเวณพื้นผิวไม่เหมาะสม บริเวณสวนเด็ก บริเวณวงเวียนทางเข้า บริเวณด้านหลังพุทธมณฑล บริเวณฝึกขับรถ บริเวณให้อาหารปลา เพราะมีคนและเด็กใช้เวลาพักผ่อนจำนวนมาก โดยลักษณะความเสี่ยงคือ การจราจรหนาแน่น รถยนต์สวนทางกัน บริเวณทางเลี้ยว ทางแยก ทางโค้ง และบริเวณที่ถนนแคบ
“ส่วนการสัมภาษณ์ผู้รับผิดชอบด้านการจัดจราจรและความปลอดภัย และผู้บริหารระดับสูง พบว่า อุบัติเหตุแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือไม่มีคู่กรณี คือล้มเอง ล้อหนีบขา และจักรยานหลุดโค้ง และมีคู่กรณี คือเฉี่ยวชนระหว่างรถจักรยานกันเอง คนที่เดินวิ่ง และรถยนต์ นอกจากนี้ พบปัญหาเข้าไปขี่ในพื้นที่ห้ามขี่ บริเวณรอบองค์พระประธาน บริเวณปูอิฐตัวหนอน ขับขี่ฝ่าขบวนพิธีต่างๆ และบริเวณที่จัดสวน ขณะที่ความมีวินัยของผู้ขับขี่ การเอื้อเฟื้อเส้นทางร่วมกัน พบว่า มีการขับขี่แข่งเป็นกลุ่มใหญ่ ย้อนศร ไม่เคารพกฎจราจร ขับขี่บนทางเท้า แทรกรถยนต์ที่มีการหยุดเพื่อแลกบัตร ไม่ชิดซ้าย ขับไปคุยไป” นายพฤกษ์ กล่าว
นายพฤกษ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น หากจะทำให้การขี่จักรยานมีความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใด ต้องมีการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดความเสี่ยง และต้องมีนโยบายเพื่อป้องกันอุบัติเหตุด้วย เช่น มีการกำหนดพื้นที่ขี่ กำหนดเส้นทาง ทำป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อเตือนความปลอดภัย การเพิ่มไฟส่องสว่าง การตรวจตราของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ผู้ขับขี่เองก็ต้องมีวินัยด้วย
สำหรับการสร้างวินัยของผู้ขับขี่ มีมาตรการหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมาตลอด คือ การทำใบอนุญาตขับขี่จักรยาน ซึ่งในประเทศไทยแต่เดิมเคยมีการบังคับใช้ใบอนุญาตขับขี่รถจักรยาน แต่ได้ยกเลิกไปนั้น เรื่องนี้ ผศ.ชาคริต ขันนาโพธิ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า จากการศึกษาความเป็นไปได้ในการบังคับใช้กฎหมาย ใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานในประเทศไทย พบว่า ในเรื่องความเท่าเทียม มีข้อดีคือได้มีการเก็บค่าธรรมเนียมของผู้ใช้จักรยาน แต่ข้อเสียคือ ถนนเป็นที่สาธารณะ และผู้ใช้จักรยานมักมีรถยนต์ส่วนตัวอยู่แล้ว ส่วนประเด็นการส่งเสริมเคารพกฎจราจร มีข้อดีคือ ช่วยลดการไม่ปฏิบัติตามและฝ่าฝืนกฎจราจร ข้อเสียคือจำเป็นต้องบังคับผู้ขับขี่จักรยานทุกคน ขณะที่ประเด้นการลดการโจรกรรมจักรยาน เชื่อว่าสามารถลดได้ แต่จะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ
“เรื่องนี้ยังมีความเห็นที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า หากมีแล้วสร้างประโยชน์แก่การจราจรได้ ก็ควรนำมาใช้ อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า การมีใบขับขี่จักรยานต้องไม่บั่นทอนจิตใจของผู้ใช้จักรยาน เพราะจะทำให้ความนิยมของประชาชนลดลง การบังคับใช้ใบขับขี่จักรยานจะต้องช่วยให้ปัญหาอุบัติเหตุต่างๆ ลดจำนวนลงตามจุดประสงค์ของกฎหมาย และใบขับขี่จะต้องมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ประชาชนนิยมที่จะขี่จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ดีในการมีใบขับขี่” ผศ.ชาคริต กล่าว
การจะส่งเสริมให้คนหันมาใช้จักรยานในการเดินทางมากขึ้น ไม่ว่าจะเพื่อสุขภาพหรือเพื่อลดมลพิษ ลดการใช้พลังงานลงก็ตาม เส้นทางจักรยานต้องมีความปลอดภัย โครงสร้างพื้นฐานของเมืองต้องเอื้ออำนวย มีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ ที่สำคัญ ผู้ขับขี่ต้องตระหนักถึงประเด็นความปลอดภัยและมีวินัยจราจร ไม่ว่าจะกำหนดให้มีใบขับขี่จักรยานหรือไม่ก็ตาม