xs
xsm
sm
md
lg

เร่งเสนอ ครม.คลอด กม.ลูก 4 ฉบับ ป้องกันท้องวัยรุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


4 กระทรวงจ่อเสนอ ครม. พิจารณา กม. ลูก 4 ฉบับรองรับการทำงานป้องกัน “ท้องวัยรุ่น” เผย กม. ลูกของ สธ. กำหนดวิธีการทำงาน รพ. แต่ละระดับในการให้ข้อมูลวัยรุ่น จัดบริการเหมาะสมได้มาตรฐาน

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การดำเนินงานตาม พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ที่ผลบังคับใช้แล้วเมื่อ ก.ค. 2559 โดยจะมี 5 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งความคืบหน้าการออกกฎกระทรวงของทั้ง 5 กระทรวง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัตินั้น ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงของทั้ง 4 กระทรวง ประกอบด้วย สธ. ศธ. พม. และ ก.แรงงาน ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแล้ว เหลือเพียงรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงที่จะลงนามและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อความในเชิงกฎหมาย ซึ่งเมื่อผ่านก็สามารถประกาศบังคับใช้ได้เลย ส่วนร่างกฎกระทรวงมหาดไทยนั้น จะต้องรอกฎกระทรวงของทั้ง 4 กระทรวงดังกล่าวผ่านก่อนจึงจะเริ่มการยกร่าง เนื่องจาก มท.จะดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหน่วยงานที่ดำเนินงานคล้ายกับ 4 กระทรวง เช่น มีสถานพยาบาล สถานศึกษาในสังกัด เป็นต้น จึงต้องรอกฎกระทรวงของทั้ง 4 กระทรวงผ่านเรียบร้อยก่อน จึงนำรายละเอียดทั้ง 4 กฎกระทรวงมายกร่าง

นพ.ประวิช ชวชลาศัย รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวว่า รายละเอียดของกฎกระทรวงก็ยืนตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 อย่างกฎกระทรวงสาธารณสุขก็จะเป็นการกำหนดให้สถานบริการต้องให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่ผู้รับบริการ ซึ่งเป็นวัยรุ่นอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ รวมถึงจัดให้มีบริการให้คำปรึกษาและบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน และจัดให้มีระบบส่งต่อให้ได้รับการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสม ซึ่งจะต้องกำหนดรายละเอียดประเภทของสถานบริการและการดำเนินการของสถานบริการแต่ละประเภท เช่น ระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นอย่างไร ระดับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.)

“การมีกฎกระทรวงก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงานขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ต่างกับการดำำเนินงานของโรงพยาบาลสังกัด สธ. ที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมานานแล้ว เพียงแต่กฎหมายจะบังคับว่าสถานบริการทุกแห่งต้องดำเนินการ เช่นเดียวกับกระทรวงอื่น เช่น ศธ. ก็ต้องไปออกกฎกระทรวงที่กำหนดว่าสถานศึกษาต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนหรือนักศึกษา ตั้งแต่เรื่องของอวัยวะในร่างกาย สรีระของเด็กหญิง เด็กชายเป็นอย่างไร เมื่อมีฮอร์โมน มีเมนส์ เป็นอย่างไร และจะจัดการแก้ปัญหาอย่างไร เป็นต้น รวมถึงต้องผลิตครูผู้สอนให้สามารถสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาเหล่านี้ได้” นพ.ประวิช กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น