ภาคประชาชนหวั่น ม.44 กดดันกรมทรัพย์สินทางปัญญา เร่งปลดล็อก “สิทธิบัตรยา” เมินคำคัดค้านคำขอสิทธิบัตร ไม่นำมาพิจารณา ย้ำเพิ่มคุณภาพกระบวนการตรวจสอบให้สิทธิบัตรแทนใช้ ม.44 ชงร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตรฉบับใหม่ เพิ่มระยะเวลายื่นคำคัดค้าน ตั้ง คกก. สิทธิบัตรยาช่วยสกรีนคำขอสิทธิบัตรไม่มีวันตาย
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้แทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงกรณีการคัดค้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมใช้ ม.44 แก้ปัญหาความล่าช้าคำขอสิทธิบัตรที่ค้างอยู่กว่า 12,000 ฉบับ ซึ่งคาดว่าเป็นคำขอเกี่ยวกับยาถึง 3,000 ฉบับ และเกือบทั้งหมดเป็นคำขอสิทธิบัตรแบบ Evergreening หรือสิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ เป็นสิทธิบัตรไม่มีวันตาย ว่า เครือข่ายภาคประชาชนยืนยันว่า ให้ใช้กระบวนการพิจารณาสิทธิบัตรตามปกติ โดยต้องพิจารณาเข้มแยกคำขอที่มีอายุเกิน 5 ปี หรือคำขอที่ถูกละทิ้งแล้วออกไป รวมถึงพิจารณาว่าเป็นสิทธิบัตรแบบ Evergreening และคำขอที่เกินกว่าสิทธิบัตรไทยอนุญาต เช่น เกี่ยวกับจุลชีพ เป็นต้น ก็จะช่วยให้เหลือคำขอสิทธิบัตรที่สมควรได้รับจริงๆ โดยการพิจารณาควรมีคณะกรรมการสิทฝะบัตรยาโดยเฉพาะ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนมาร่วมพิจารณา
นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาคำขอสิทธิบัตร หลังจากการประกาศโฆษณาว่าบริษัทนี้ยื่นคำขอสิทธิบัตรเรื่องอะไร จะเปิดโอกาสให้มีการยื่นคัดค้านคำขอในเวลา 90 วัน อย่างกรณียาโซฟอสบูเวียร์ ที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบซี พวกเราก็ยื่นคัดค้านไป เพื่อให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาว่าสุดท้ายแล้วจะให้สิทธิบัตรกับยาดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำตอบ โดยสิ่งที่กังวลยิ่งกว่านั้นคือ หากมีการใช้ ม.44 จริง เพื่อเร่งรัดให้คำขอสิทธิบัตรผ่าน เพราะรัฐบาลระบุชัดว่าหากต่างประเทศให้ผ่านก็ไม่ต้องพิจารณามากให้ผ่านได้เลย หากจะค้านก็ให้ไปฟ้องกันทีหลัง ตรงนี้จะมีผลกระทบถึงการยื่นคัดค้านคำขอหรือไม่ เพราะจะกลายเป็นการกดดันกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้รีบผ่านคำขอสิทธิบัตร กระบวนการคัดค้านของพวกเราจะเป็นผลหรือไม่ หรือผ่านไปเลยโดยไม่มีการนำมาพิจารณา
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาสิทธิบัตรยาควรมีคณะกรรมการสิทธิบัตรยาโดยเฉพาะ ซึ่งอดีตเคยมีการตั้งมาก่อนแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีการเรียกประชุม สุดท้ายก็ถูกยุบไป คณะกรรมการนี้ควรมาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมพิจารณากลั่นกรองคำขอสิทธิบัตรที่มีความเหมาะสมจริงๆ ให้ได้รับสิทธิบัตร เพื่อป้องกันสิทธิบัตรประเภทไม่มีวันตาย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของพวกบริษัทที่ต้องการผูกขาดสิทธิบัตรยาวๆ เพราะจะเห็นได้ว่าเมื่อยื่นคำขอสิทธิบัตรแล้ว มีการประกาศโฆษณาแล้ว กรมทรัพย์สินฯ ให้ระยะเวลา 5 ปีในการยื่นเอกสารให้ตรวจสอบกระบวนการประดิษฐ์ ก่อนจะพิจารณาว่าจะให้สิทธิบัตรหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะยื่นเอกสารให้ช่วงประมาณ 5 - 10 วันสุดท้ายก่อนหมดระยะเวลา 5 ปี เพราะรู้ดีว่าหากรีบยื่นให้ตรวจสอบอาจจะไม่ผ่านสิทธิบัตรก็ได้ จึงยืดระยะเวลาออกไปช่วงท้ายๆ หรือไม่ยื่นเลย กลายเป็นคำขอที่ถูกละทิ้ง ซึ่งช่วงเวลา 5 ปีนี้ ส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้ ก็กระทบต่อการเข้าถึงยาของผู้ป่วยต้องเสียโอกาสไปมากเท่าไร
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ตรวจสอบเอกสารการคัดค้านคำขอสิทธิบัตรมีเพียงคนเดียว ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะต้องอ่านเอกสารทั้งหมด รวมถึงต้องตรวจสอบข้อมูลจากภายนอกด้วย ซึ่งระยะเวลาเพียง 90 วันที่ให้ยื่นคัดค้าน คงไม่เพียงพอในการที่จะอ่านแน่นอน จึงเห็นว่าร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตรฉบับใหม่ ควรมีการปรับแก้ให้สามารถยื่นคัดค้านได้จนกว่าจะพิจารณาให้หรือไม่ให้สิทธิบัตร และให้มีคณะกรรมการสิทธิบัตรยาขึ้นมาเพื่อช่วยพิจารณา โดยกำหนดระยะเวลาว่าต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าไร ซึ่งตนเห็นว่าการทำให้กระบวนการพิจารณามีคุณภาพก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 เพื่อปลดล็อกแต่อย่างใด
ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้บอกทาง นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจะไปประชุมร่วมกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่า อย.ทำเรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับยา เพื่อให้ชัดเจน โดยในเรื่องสิทธิบัตร จากนี้ให้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นคนให้ข้อมูลดีกว่า โดยให้ผู้รับผิดชอบเป็นคนตอบ ส่วนของ อย. จะเน้นเรื่องการขึ้นทะเบียนยาเป็นหลัก
“เรื่องสิทธิบัตรยาที่เป็นประเด็น ก็ต้องไปแยกกันให้ชัด และอยากให้ไปถามกรมทรัพย์สินทางปัญญาดีกว่า เพราะก่อนหน้านี้ที่ผมได้ยินมาคือ คำขอสิทธิบัตรที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการมี 20,000 รายการ โดยมีประมาณ 12,000 รายการที่จะออกมาใน 3 เดือน ส่วนเรื่องของยาประมาณ 5,000 รายการไม่เกี่ยว โดยท่านนายกฯ ฝาก อย.ช่วยประสานเรื่องนี้ ว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในแง่ อย.ต้องขึ้นทะเบียนยา แต่สิทธิบัตรก็ต้องเป็นกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่จะให้ชัดเจนผมว่า ก็ลองไปถามกรมทรัพย์สินทางปัญญาดีกว่า” นพ.ปิยะสกล กล่าว