รพ.จุฬาฯ เปิดตัวนวัตกรรม “จี้หลอดลมด้วยความร้อน” รักษาโรคหืดขั้นรุนแรง ช่วยลดอาการกำเริบนานถึง 5 ปี ลดการมาพบแพทย์ห้องฉุกเฉิน 5 เท่า ลดการนอน รพ. 73% ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา
วันนี้ (2 มี.ค.) ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว “รพ.จุฬาลงกรณ์ ส่องกล้องรักษาโรคหืดแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย” ว่า รพ.จุฬาฯ มีการสนับสนุนและส่งเสริมค้นคว้าวิจัย ในการผลิตนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับความสะดวก ปลอดภัย และเข้าถึงบริการได้ โดยล่าสุด รพ.จุฬาฯ สามารถผลิตนวัตกรรมรักษาโรคหืดเรื้อรังขั้นรุนแรง ช่วยให้ผู้ป่วยลดปริมาณการรับประทานยาและฉีดยาได้ เป็นเวลานานถึง 5 ปี และช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย งบประมาณในการรักษาผู้ป่วยปีละประมาณหลายแสนบาทต่อคน
ศ.นพ.สมเกียรติ วงษ์ทิม นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคหืดเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม สาเหตุมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น สารก่อภูมิแพ้ ทำให้มีการอักเสบเกิดตลอดเวลา การกระตุ้นของสารเคมี เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง การอักเสบเรื้อรังของหลอดลมอาจนำไปสู่การเกิดพังผืดและการหนาตัวอย่างมากของผนังหลอดลม ทำให้มีการอุดกั้นของหลอดลมอย่างถาวร ทั้งนี้ โรคหืดจัดว่ามีความชุกสูง โดยปี 2545 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาใน รพ.ด้วยอาการหอบรุนแรง 102,245 ราย และมากกว่าหนึ่งแสนราย ต้องเข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินด้วยอาการหอบเฉียบพลัน การควบคุมอาการของโรคคือ การใช้ยาในกลุ่มควบคุมอาการเพื่อลดการอักเสบ ร่วมกับการใช้ยาขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการ
นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ หน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตการหายใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า สำหรับนวัตกรรมการรักษาโรคหืดขั้นรุนแรงของ รพ.จุฬาฯ คือ “การจี้หลอดลมด้วยความร้อน (Bronchial thermoplasty)” โดยการส่องกล้อง ใส่สายแคสเตเตอร์หย่อนลงไปผ่านหลอดลมเข้าไปในปอด ที่มีขนาดความกว้าง 2 - 3 มิลลิเมตร เซนเซอร์จะเปลี่ยนจากคลื่นวิทยุเป็นความร้อนที่ 65 องศาเซลเซียส และจี้เข้าไปที่หลอดลมส่วนปลายเพื่อทำลายกล้ามเนื้อเรียบให้บางลงไม่ให้หลอดลมตีบ โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการทำ 1 ครั้ง จะต้องจี้ให้ได้ 100 จุด จุดละ 10 วินาที หรือมากที่สุดในบริเวณปอดล่างขวา ปอดล่างซ้าย และปอดด้านบนสองข้าง โดยต้องทำทั้งหมดจำนวน 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 3 สัปดาห์ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 2 แสนบาท นับเป็นอีกทางเลือกของการรักษาให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ไม่เหนื่อยหอบ และไม่ต้องนอนโรงพยาบาลบ่อย ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารักษาตัวของคนไข้เอง และประหยัดงบประมาณของประเทศ
"วิธีดังกล่าวจะทำในเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหืดขั้นรุนแรงเท่านั้น ส่วนผู้ที่ป่วยโรคหืดไม่รุนแรงไม่สมควรทำ เพราะจากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า วิธีรักษานี้ไม่ได้แตกต่างจากการใช้ยาพ่นเลย ทั้งนี้ จากงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้ว พบว่า การจี้กล้ามเนื้อเรียบทำให้สามารถควบคุมโรคหืดได้ ลดอาการกำเริบได้นานถึง 5 ปี ไม่มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยและปอดไม่ถูกทำลาย ซึ่ง รพ.จุฬาฯ เป็นแห่งที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่ทำได้ โดยเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยโรคหืดด้วยวิธีนี้ โดยผลจากการรักษากับผู้ป่วยพบว่า ลดโอกาสเกิดหอบหืดกำเริบมากกว่าครึ่งหนึ่งจากเดิม ลดการมาพบแพทย์ห้องฉุกเฉินประมาณ 5 เท่า ลดโอกาสการมานอนโรงพยาบาลประมาณ 73% ซึ่งเราคาดหวังว่าคนไข้จะได้ไม่ต้องมาห้องฉุกเฉินบ่อย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เพราะโรคหืดกำเริบ ไม่ต้องกินยาสเตียรอยด์จำนวนมาก คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม” นพ.ธิติวัฒน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อควรระวังในเรื่องใดหรือไม่ นพ.ธิติวัฒน์ กล่าวว่า การรักษาด้วยวิธีนี้ จะไม่ทำในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจโดยใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะคลื่นจะรบกวนกัน กับผู้ป่วยที่มีเลือดออกง่าย และคนไข้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว