“หมอประสิทธิ์” นายกแพทยสภา เปิดตัวผู้บริหารชุดใหม่ “หมอสุกิจ” นั่งเลขาธิการแพทยสภา เผย การทำงาน 2 ปี เน้นสร้างความไว้วางใจแพทย์ - สังคม - แพทยสภา มากขึ้น เน้นสื่อสาร ทำงานรวดเร็ว ตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมแพทย์เร็วขึ้น
วันนี้ (2 มี.ค.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนายกแพทยสภา นำคณะผู้บริหารแพทยสภาชุดใหม่เปิดตัวพร้อมแถลงนโยบาย วิสัยทัศน์ และทิศทางการบริหารของคณะกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ. 2560 - 2562 โดยคณะผู้บริหารแพทยสภาชุดใหม่ ประกอบด้วย 1. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา 2. ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภา คนที่หนึ่ง 3. รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภาคนที่สอง 4. นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ เลขาธิการแพทยสภา 5. พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา 6. นพ.ภาคภูมิ สุปิยพันธุ์ เหรัญญิกแพทยสภา และ 7. พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา
นอกจากนี้ ยังมี ศ.นพ.วิรัติ พาณิชย์พงษ์ อนุกรรมการบริหาร นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ อนุกรรมการบริหาร พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา อนุกรรมการบริหาร ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ที่ปรึกษา ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ที่ปรึกษา ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ ที่ปรึกษา และ นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ ที่ปรึกษา
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การทำงานในวาระ 2 ปีนี้ จะเน้นให้ประชาชนไทยมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี ผ่านแพทย์ที่มีคุณภาพ มีคุณธรรมไปให้บริการ ทั้งเรื่องการผลิตแพทย์ที่มีทั้งความสามารถ และมีจริยธรรม รวมทั้งการกำกับดูแลแพทย์ให้อยู่ในกรอบวิชาชีพ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ สร้างความไว้วางใจของสังคมและแพทย์ ต่อแพทยสภา โดยการลดช่องว่างระหว่างแพทย์กับแพทยสภา และสังคมกับแพทยสภา ซึ่งจะลดปัญหาความไม่เข้าใจกันและลดปัญหาการฟ้องร้องลงได้ ซึ่งการสร้างความเชื่อมั่นจะเน้นการสื่อสารกับสังคมมากขึ้น และปรับการทำงานให้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ อาทิ ขั้นตอนการตรวจสอบกรณีมีข้อร้องเรียนจากประชาชน เดิมใช้เวลานานหลายปี ก็จะมีการลดขั้นตอนดังกล่าวให้เหลือน้อยลง แต่มีคุณภาพเหมือนเดิม
รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุง พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น โดยจะปรับปรุงเรื่องการตรวจสอบคดี จริยธรรมต่างๆ ที่เข้ามาในแพทยสภา ซึ่งเดิมใช้เวลาตรวจสอบนานเป็นปีๆ เนื่องจากมีคณะกรรมการ 2 ชุดตรวจสอบ ทั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และคณะกรรมการจริยธรรม แต่กฎระเบียบใหม่จะปรับปรุงให้เหลือคณะกรรมการเพียงชุดเดียว เพื่อลดขั้นตอน และให้รวดเร็วขึ้นเหลือครึ่งหนึ่ง
“ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนมายังแพทยสภาเฉลี่ยปีละ 300 เรื่อง ซึ่งจริงๆ ไม่ได้มาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นความเข้าใจผิดมากกว่า เพราะผู้ร้องเรียนมักร้องในเรื่องการเยียวยา ซึ่งจริงๆ สามารถร้องไปยังรพ. ที่เกิดเหตุได้ หรือ 1330 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีระบบรับเรื่องร้องเรียน และเยียวยาเรื่องนี้ ในส่วนของแพทยสภาจะเป็นเรื่องมาตรฐานวิชาชีพ แต่จากนี้จะมีการสื่อสารมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันทั้งแพทย์และผู้ป่วย” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว
ด้าน นพ.สุกิจ กล่าวว่า เรื่องการร้องเรียนเริ่มลดน้อยลง เพราะกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีระบบตรวจสอบเข้มข้น มีการเยียวยามากขึ้น และเมื่อมีการเยียวยาแล้ว คนไข้ไม่ติดใจในพฤติกรรม เรื่องก็ยุติ