xs
xsm
sm
md
lg

จี้ กสทช.ตรวจสอบรายการทีวีจงใจ “ใบ้หวย” ชักชวนคนเล่นพนัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ จี้ กสทช. เร่งตรวจสอบรายการทีวีมอมเมา จงใจใบ้หวย ส่งเสริมชักชวนให้เล่นการพนัน หวั่นสร้างนักพนันหน้าใหม่ เข้าข่ายผิดตามกฎหมาย

วันนี้ (1 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน พร้อมด้วย นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ นำ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาจากหลายสถาบัน และเครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง ประมาณ 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ผ่านทาง นายภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช. เพื่อเรียกร้องให้เร่งตรวจสอบรายการโทรทัศน์ ที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย หลังพบว่ามีการโฆษณาชักชวนให้เล่นการพนันสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน ทั้งนี้ ได้นำตัวอย่างรายการโทรทัศน์มามอบให้กับ กสทช. เพื่อเป็นหลักฐานด้วย

นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่เข้าถึงง่ายและเป็นที่นิยม ทั้งยังมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ พฤติกรรม การใช้ชีวิตของผู้รับชมรายการ จากที่เครือข่ายฯได้เฝ้าระวังสื่อโทรทัศน์ พบว่า สื่อบางสำนักมีการโฆษณาชักชวนให้เล่นการพนันสลากฯและหวยใต้ดินอย่างโจ่งครึ่ม กระตุ้นนักพนันหน้าใหม่ สร้างทัศนคติในการเล่นพนันให้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ดังนั้น การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 เช่น นำเสนอหัวข้อข่าวที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับตัวเลข เลขเด็ด ผ่านการเล่าข่าว เชิญบุคคลที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับการใบ้ตัวเลข มาเป็นแขกรับเชิญพูดคุยแลกเปลี่ยนในรายการ การเขียนตัวเลขถือโชว์ผ่านรายการ ก่อนผลรางวัลสลากฯจะออกเพียง 1 วัน รวมถึงการพูดในรายการวิทยุ รายการเล่าข่าวต่างๆ เป็นจำนวนมาก

“ยิ่งวันนี้เป็นวันหวยออกด้วยแล้ว พิธีกรหลายสำนักจะพูดเรื่องตัวเลข เลขเด่น เลขดัง ซ้ำๆ วนไปมา ซึ่งเป็นพฤติกรรมเรียกเรตติ้ง มุ่งหวังยอดผู้รับชมราย ทำเพื่อผลทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว จนหมิ่นเหม่ต่อการขาดจรรยาบรรณและจริยธรรมในการผลิตรายการ อีกทั้งยังกระตุ้น ส่งเสริมให้เล่นพนันลอตเตอรี หวยใต้ดิน สร้างการจดจำ ความเชื่อที่ผิดๆ ต่อเด็กเยาวชน สุดท้ายกลายเป็นนักพนันหน้าใหม่ในอนาคต สะท้อนจากผลสำรวจสถานการณ์การเล่นพนันปี 2558 ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ผู้เล่นพนันในรอบปีที่ผ่านมามี 27.4 ล้านคน โดยผู้เล่น 1.16 ล้านคน เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี โดยอายุที่เริ่มเล่นน้อยสุด คือ 7 ปี และมีผู้ที่ยอมรับว่าตนเองติดการพนัน 2.2 ล้านคน ประเภทการพนันที่มีผู้เล่นสูงสุด คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล มีผู้เล่น 19 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 77,143 ล้านบาท รองลงมาคือ หวยใต้ดิน มีผู้เล่น 16.5 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 130,879 ล้านบาท” นายณัฐพงศ์ กล่าว

นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น เครือข่ายฯขอเรียกร้องไปยัง กสทช. ซึ่งมีอำนาจควบคุมสื่อโทรทัศน์ นำข้อเสนอไปพิจารณาดังนี้ 1. ขอให้ กสทช. กำกับดูแลและควบคุมการทำงานของสื่อทุกประเภทอย่างเคร่งครัด และให้ตรวจสอบการกระทำดังกล่าวเป็นการด่วน หากพบว่าเข้าข่ายความผิดจริง ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายในขอบเขตที่ กสทช. มีอำนาจ 2. จัดเวทีให้ความรู้กับสื่อทุกสำนักว่าการกระทำดังกล่าวในข้างต้น เข้าข่ายความผิดการโฆษณาหรือชักชวนให้มีการเล่นการพนัน ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 และให้ความรู้ในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพนัน ไม่ควรส่งเสริม สนับสนุนให้มีการพนัน 3. พัฒนาและประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องเรียน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนแจ้งข้อมูลข่าวสาร หากพบการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เหมาะสมของสื่อ อย่างไรก็ตาม เครือข่ายฯ จะติดตามการทำงานและทวงถามความคืบหน้าจาก กสทช. อย่างใกล้ชิด

นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า สังเกตว่าก่อนวันประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาล สื่อบางสำนักจะกระตุ้นให้มีการเล่นการพนันทายผลกันหนักมาก แม้ว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลจะเป็นการพนันที่ถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่ควรส่งเสริมการให้ข้อมูลประกอบการเล่น กระตุ้นการเล่นการพนันผ่านสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ ซึ่งสวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่กำลังเดินหน้าป้องกันและปราบปรามการพนัน และส่งเสริมให้เด็กเยาวชนมีคุณธรรม ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบในต่างประเทศ สื่อจะนำเสนอเพียงแค่ผลการออกรางวัล หรือการเสนอข้อมูลแนวทางการป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันเท่านั้น จะไม่มีการให้ข้อมูลตัวเลขผ่านสื่อ อย่างมากก็รายงานผลการออกรางวัล

“กสทช. ต้องดำเนินการกำกับดูแลไม่ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุนำเสนอข้อมูลการเล่นการพนัน ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายการพนันด้วย และขอให้สมาคมวิชาชีพสื่อ หยิบยกการที่สื่อนำเสนอข้อมูลประกอบการเล่นพนัน นำมากำหนดกรอบเพื่อพัฒนาจริยธรรมในการรายงานและนำเสนอข่าว และพัฒนาสายด่วนหยุดพนันอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ทราบว่า กำลังมีการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ. สลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ จึงควรกำหนดเรื่องของการห้ามโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม ห้ามส่งเสริมการขายในทุกรูปแบบไว้ด้วย” นายพงศ์ธร กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น