xs
xsm
sm
md
lg

อยากกินอาหารดีต่อกาย!! โปรดสังเกตฉลากนี้บนรถเมล์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. เร่งพีอาร์สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ติดป้ายประชาสัมพันธ์บนรถเมล์ 5 คัน เริ่มวิ่งตั้งแต่ มี.ค.- พ.ค. หวังผู้บริโภครู้จักมากขึ้น ชี้ เจอผลิตภัณฑ์มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ เลือกซื้อได้เลย เหตุผ่านข้อกำหนดลดหวาน มัน เค็มแล้ว ช่วยลดเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

วันนี้ (28 ก.พ.) นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวเปิดตัวรถเคลื่อนที่ประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) โดยใช้รถโดยสารประจำทางสาธารณะ ว่า การเปิดตัวรถเคลื่อนที่ประชาสัมพันธ์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาหารปลอดภัยปี 2560 เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ฉลากแสดงสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ โดยจะติดป้ายประชาสัมพันธ์ขนาดครึ่งคัน (Half Wrap) บริเวณด้านซ้าย ด้านขวา และด้านหลังของรถโดยสารประจำทางสาธารณะ ที่มีเส้นทางเดินรถต้นทาง - ปลายทางระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 5 คัน ได้แก่ สาย ปอ. 18 ท่าอิฐ - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย ปอ. 80 วัดศรีนวลธรรมวิมล - หนองแขม - สนามหลวง, สาย ปอ. 29 ม.ธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) - หัวลำโพง, สาย ปอ. 38 ม.รามคำแหง 2 - ม.ราชภัฏจันทร์เกษม และ สาย ปอ. 547 ม.เทคโนฯ วิทยาเขตศาลายา - สะพานกรุงเทพ - สวนลุมพินี ซึ่งจะเริ่มวิ่งพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.- 31 พ.ค. 2560 เป็นเวลา 3 เดือน

นพ.วันชัย กล่าวว่า อย. จะเดินหน้ารณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่แสดงสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” เนื่องจากง่ายต่อการเลือกซื้อ และมีประโยชน์ในการลดหวาน มัน เค็ม หากพบสัญลักษณ์นี้เลือกซื้อได้เลย เพราะแสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีปริมาณสารอาหาร เช่น น้ำตาล ไขมัน โซเดียม อยู่ในเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายกําหนด ยกตัวอย่าง น้ำปลากำหนดให้มีโซเดียมไม่เกิน 6,000 มิลลิกรัมต่อน้ำปลา 100 มิลลิลิตร โดยทั่วไป 1 ช้อนชา มีโซเดียมประมาณ 500 มิลลิกรัม แต่น้ำปลาที่มีการแสดงสัญลักษณ์นี้บนฉลาก 1 ช้อนชา จะมีโซเดียมไม่เกิน 300 มิลลิกรัม สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดื่มน้ำอัดลม น้ำผัก และน้ำผลไม้ และน้ำหวานกลิ่นรสต่างๆ น้ำนมถั่วเหลือง น้ำธัญพืชต่างๆ หากเลือกยี่ห้อที่มีการแสดง สัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ก็จะได้รับประโยชน์ด้านการลดปริมาณน้ำตาลลงเช่นกัน เพราะจะมีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร หากเครื่องดื่มมีขนาดบรรจุ 200 มิลลิลิตร และดื่มครั้งเดียวหมดจะได้รับน้ำตาลไม่เกิน 12 กรัม หรือไม่เกิน 3 ช้อนชา

“ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว 213 ผลิตภัณฑ์ โดยสัญลักษณ์นี้นอกจากช่วยให้สามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ ที่สำคัญ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศในการรักษาพยาบาลโรคดังกล่าวในระยะยาวด้วย จึงขอให้ผู้บริโภคอ่านฉลาก อย่างฉลาด ลดเสี่ยงโรคภัย มีแต่ได้ไม่มีเสีย” เลขาธิการ อย. กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น