xs
xsm
sm
md
lg

ปรับวิธีเก็บภาษี “เหล้า” คิดตามดีกรี-มูลค่า ลดอุ้ม “แบรนด์ไทย” เสียภาษีถูกกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สสส. ชี้ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ช่วยรีดภาษี “เหล้า - เบียร์ - ไวน์” มากขึ้น คิดภาษีทั้งตามมูลค่าและตามดีกรี ลดการอุ้ม “เหล้า - เบียร์ไทย” เสียภาษีถูกกว่า แนะสรรพสามิตออกกฎหมายลูกครอบคลุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด ลดแบ่งประเภท “สุรา” ป้องกันคนหันดื่มเหล้าเบียร์ราคาถูกกว่า

จากกรณีกรมสรรพสามิตเตรียมออกกฎหมายลูกเพื่อกำหนดอัตราภาษีใหม่ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รองรับร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ซึ่งผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว และเตรียมประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษี โดยใช้ฐานภาษีจากราคาขายปลีกแนะนำแทนราคาขายส่ง และคิดภาษีทั้งตามมูลค่าและตามปริมาณ ซึ่งจะทำให้เก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้น โดยอัตราภาษีเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 150%

วันนี้ (28 ก.พ.) นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพาสามิตฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ เป็นการประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต 7 ฉบับมารวมเป็นฉบับเดียว ซึ่งจะมีในส่วนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และช่วยให้เก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้นและลดความไม่เท่าเทียมของการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง

“ในอดีตประเทศไทยใช้วิธีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบ “2 เลือก 1” คือ พิจารณาว่าระหว่างภาษีตามปริมาณ หรือดีกรี และภาษีตามมูลค่า หรือราคาของเครื่องดื่ม แบบใดเก็บภาษีได้มากกว่า ก็เลือกเก็บภาษีด้วยวิธีนั้น และมีการปรับเปลี่ยนวิธีเก็บภาษีใหม่เมื่อปี 2556 เป็นแบบ “3 เก็บ 2” คือ เก็บทั้งภาษีตามมูลค่าและตามปริมาณ แต่ภาษีตามปริมาณนั้นจะเลือกว่า ระหว่างภาษีตามปริมาณดีกรี หรือ ภาษีตามปริมาตรของเครื่องดื่ม คือ นับตามมิลลิลิตร แบบใดจัดเก็บได้สูงกว่าก็จะเลือกแบบนั้น ซึ่งวิธีดังกล่าวมีความไม่เท่าเทียม และเป็นการเอื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางประเภท ยกตัวอย่าง หากเก็บภาษีตามปริมาตร เพราะได้ภาษีสูงกว่าตามดีกรี เบียร์ที่มีปริมาตรเท่ากัน แต่ยี่ห้อหนึ่งมี 5 ดีกรี อีกยี่ห้อมี 3 ดีกรี เบียร์ที่มีดีกรีต่ำกว่าก็จะต้องเสียภาษีมากกว่า เพราะต้นทุนสูงกว่า เป็นต้น” นพ.บัณฑิต กล่าว

นพ.บัณฑิต กล่าวว่า วิธีเก็บภาษีแบบเดิมนี้เป็นการอุ้มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางประเภท โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งเข้าใจว่า ต้องการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่ควรมีการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันกัน ซึ่งร่าง พ.ร.บ. สรรพสามิตฉบับใหม่นี้ เก็บภาษีจะเป็นลักษณะ 1+1 คือ เก็บทั้งตามมูลค่าและตามปริมาณดีกรี ไม่เก็บตามปริมาตร ก็จะช่วยลดปัญหาความไม่เท่าเทียมตรงนี้ลงไปได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสุรายังมีความไม่เท่าเทียมในเรื่องของอัตราภาษี ซึ่งมีการแบ่งเป็นหลายประเภท ทั้งสุราขาว สุราผสม สุราพิเศษ และสุราปรุงพิเศษ อัตราภาษีก็จะไม่เท่ากัน ดังนั้น การออกกฎหมายลูกเพื่อกำหนดโครงสร้างและอัตราภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ ก็ต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้เพื่อลดความไม่เท่าเทียมในการจัดเก็บภาษีด้วย รวมถึงคำนึงเรื่องของการขึ้นภาษีที่ต้องครอบคลุมทั้งกระดานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท เพราะหากขึ้นแค่บางประเภท ผู้บริโภคจะหันไปบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีราคาถูกกว่าแทน

เมื่อถามว่า รัฐบาลจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้น แต่มีกระแสว่าจะลดงบประมาณ สสส. ลง นพ.บัณฑิต กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ แต่หากมีการลดงบประมาณจริง อาจกระทบการดำเนินงานของ สสส. ที่เป็นกลไกทางสังคมในการช่วยภาครัฐในประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพได้
กำลังโหลดความคิดเห็น