xs
xsm
sm
md
lg

สธ.นำร่อง 19 รพ.จัดส่ง “ยา” ถึงบ้านผู้ป่วย ลดแออัด รอคิวนาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ร่วมไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ให้ “ผู้ป่วยถึงบ้าน” ลดการรอคิวนาน ลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง ลดแออัดใน รพ. นำร่อง 19 รพ. ในสังกัด

วันนี้ (27 ก.พ.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ดร.ฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาศักยภาพการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาไปยังบ้านผู้ป่วย/หน่วยบริการ” ระหว่าง สธ. กับบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด

นพ.โสภณ กล่าวว่า จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2558 ผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัด สธ. มีจำนวนสูงถึง 187,632,580 ครั้ง แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลถึงความแออัด มีระยะเวลาการรอคอยในการรับยา การชำระค่าบริการ ปัญหาการจราจร ไม่มีที่จอดรถ เป็นต้น สธ. จึงพยายามพัฒนาระบบบริการ และได้พัฒนาระบบคุณภาพในการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ ด้วยบริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังบ้านผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยกลับบ้านรวดเร็วและสะดวกขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทางมารับยา ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดภาระการสำรองยาคงคลังของโรงพยาบาล และลดปริมาณการจ่ายยาให้ผู้ป่วยครั้งละจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเสื่อมคุณภาพของยาได้

“สธ. จึงร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพ ที่จะช่วยให้ยาไปถึงมือผู้ป่วยโดยเร็ว มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ด้วยบริการจัดส่งที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ GSP (Good Storage Practice) และ GDP (Good Distribution Practice) จึงมีการลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาศักยภาพการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาไปยังบ้านผู้ป่วย เป็นทางเลือกใหม่ และเป็นบริการโดยความสมัครใจของผู้ป่วยหรือญาติ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยภายหลังเข้ารับการตรวจรักษา สามารถรอรับยาได้ที่บ้านตนเอง รวมทั้งมีบริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาโรงพยาบาลไปยังหน่วยบริการอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า การพัฒนาดังกล่าวได้ตั้งเป้าหมายดังนี้ 1. ลดปริมาณผู้ป่วยนอกที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล 2. ลดปริมาณยาและเวชภัณฑ์คงคลังของโรงพยาบาล 3. ลดการสูญเสียยาและเวชภัณฑ์จากการที่ผู้ป่วยไม่รับประทานหรือทิ้ง 4. ลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมของผู้ป่วยทุกสิทธิ์ 5. ลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมของโรงพยาบาลในการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ และ 6. เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ในภาพรวม โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการในโรงพยาบาล 19 แห่ง คือ รพ.บุรีรัมย์ รพ.สงขลา รพ.สุรินทร์ รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.ศรีสะเกษ รพ.กาฬสินธุ์ รพ.แพร่ รพ.นครพิงค์ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.ขอนแก่น รพ.ร้อยเอ็ด รพ.ลำปาง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.พุทธชินราช รพ.หาดใหญ่ รพ.อุดรธานี รพ.มหาสารคราม และ รพ.อุตรดิตถ์ ก่อนจะขยายไปยังโรงพยาบาลที่เหลือต่อไป

นายฐิติพงศ์ กล่าวว่า การขนส่งยาและเวชภัณฑ์ ทางบริษัทได้มีการจัดรถขนส่งควบคุมอุณหภูมิคอยให้บริการอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวว่า ยาจะได้รับความเสียหาย ส่วนระยะเวลาในการจัดส่งเป็นไปตามที่มีการกำหนด กรณีเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม หากไม่เกิน 70 เซนติเมตร ก็ยังสามารถจัดส่งได้ หากน้ำท่วมสูงเกินกว่านี้หรือมีอุปสรรคอื่นๆ ก็ได้ประสานกองทัพ เพื่อช่วยลำเลียงทั้งทางเรือ และทางอากาศด้วย และขณะนี้อยู่การปรับปรุงกล่องบรรจุภัณฑ์ในการจัดส่งยาให้มีความแตกต่างจากกล่องพัสดุทั่วไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น