สพฉ. โบ้ย สธ. รายงานเวลารับแจ้งช่วย “บุญธรรม” คลาดเคลื่อน ด้าน รมว.สธ. เร่งออกกฎหมายลูกบังคับ ทุก รพ.ร่วมรักษาฉุกเฉินวิกฤต 72 ชม. แรกไม่เสียค่าใช้จ่าย
ความคืบหน้ากรณีการรายงานเวลารับแจ้งเหตุ 1669 ช่วยชีวิต นายบุญธรรม ธรรมานันท์ หรือ โก๋ อดีตกองหลังทีมชาติไทย ที่เกิดอาการหัวใจวายขณะซ้อมที่สนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ตรงกัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เพื่อนผู้เสียชีวิต โทร.แจ้งเวลา 17.18 น. และศูนย์รับแจ้งเหตุ รพ.พระนั่งเกล้า ประสานไปยังสถาบันบำราศนราดูร เวลา 17.23 น. ซึ่งต่างจากการรายงานครั้งแรกที่ระบุว่าได้รับแจ้งตอนเวลา 17.23 น.
นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า การรายงานครั้งแรกที่ระบุว่า เวลารับแจ้งเหตุคือเวลา 17.23 น. นั้น เป็นเวลาที่ทาง สธ. ประสานเช็กจากศูนย์รับแจ้งเหตุ รพ.พระนั่งเกล้า ไม่ใช่ สพฉ. ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่าเหตุใดจึงมีการรายงานว่าเป็นเวลาดังกล่าว แต่ยืนยันว่าการประสานนำข้อมูลมาชี้แจงนั้นไม่ใช่ข้อมูลที่มาจาก สพฉ. ส่วนกรณีการประสานข้อมูลเวลาโทร.ของเพื่อนผู้เสียชีวิตกับคู่สายโทรศัพท์นั้น สพฉ. เป็นผู้ประสานจนทราบว่าเป็นเวลา 17.18 น. จริง ทั้งนี้ การประสานนำข้อมูลรับแจ้งเหตุของศูนย์รับแจ้งเหตุจากโรงพยาบาลต่างๆ นั้น โดยปกติทาง สธ. จะเป็นผู้ประสานนำข้อมูลจากโรงพยาบาลมาให้ทาง สพฉ. ส่วนเรื่องการพัฒนาระบบของสายด่วน 1669 นั้น ยังต้องศึกษารายละเอียดอยู่
ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉิน ว่า ที่ผ่านมา แม้มีกรณีลักษณะนี้เกิดขึ้นจริง แต่หลายครั้งเมื่อมีการพิสูจน์ว่าผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือกรณีสีแดงจริง ก็จะมีการเจรจาหารือกับทางโรงพยาบาลเอกชนเพื่อไม่ให้เก็บค่ารักษากับทางผู้ป่วย แต่อย่าลืมว่าที่ผ่านมาเป็นเรื่องความสมัครใจ ไม่มีกฎหมายบังคับ แต่ล่าสุดอยู่ระหว่างจัดทำกฎกระทรวงเพื่อกำหนดให้โรงพยาบาลทุกแห่งต้องรับรักษาผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินให้พ้นวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมงต้องไม่เรียกเก็บค่ารักษา โดยให้ตั้งเบิกกับภาครัฐ ซึ่งจะมีกองทุนสุขภาพของแต่ละสิทธิเป็นผู้จ่าย ซึ่งหากละเมิดจะมีความผิดทันที คาดว่า ประกาศใช้เดือนเมษายนนี้ ทันสงกรานต์พอดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจาก สพฉ. ระบุถึงเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” กรณีการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน โดย ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งมีภาวะคุกคาม ต่อชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันทีเพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือดหรือระบบ ประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น รุนแรงขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไวดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. Cardiac arrest ไม่รู้สึกตัว หรือ ไม่หายใจ หรือ ไม่มีชีพจร 2.Airway obstruction คือ หายใจได้ยินเสียงดัง Stridor. 3.Breathing มีอาการหายใจผิดปกติ โดยมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ข้อ: ต้องลุกนั่ง/พิงผนัง หรือยืนเพื่อให้หายใจได้ หรือ หายใจมีเสียงดัง หรือ ซีดและเหงื่อท่วมตัว หรือ หายใจเร็ว(มากกว่าตามเกณฑ์ อายุ) แรง และลึก หรือ ใช้กล้ามเนื้อช่วยหายใจ หรือ หายใจช้า (น้อยกว่า 6 ครั้ง)
4. Circulation มีอาการแสดงช็อก โดยมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ข้อ คือ เหงื่อท่วมตัว ซีดและผิวเย็นชืด หมดสติชั่ววูบ/เกือบหมดสติชั่ววูบเมื่อนั่ง/ยืน เป็นต้น 5. กลุ่มอาการ แพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สัตว์ต่อย/แอนาฟิแล็กซิส/ปฏิกิริยาภูมิแพ้ มีผื่นร่วมกับหายใจติดขัด และ ไม่มีผื่น แต่มีอาการหายใจติดขัด แน่นหน้าอก และ 6.กลุ่มอาการสัตว์กัด งูพิษกัด และ มีอาการทางระบบประสาท หรือ ระบบไหลเวียนโลหิต ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตและการสูญเสียอวัยวะสาคัญ
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาการเจ็บแน่นทรวงอก/หัวใจ เฉียบพลัน กลุ่มมีครรภ์/คลอด/นรีเวช มีน้ำเดิน และ มดลูกหดตัวหรือเลือดออกทางช่องคลอด รวมทั้งกลุ่มอาการชัก กลุ่มอาการแขนขาอ่อนแรง/พูดลำบาก/ปากเบี้ยว และกลุ่มอาการถูกทำร้าย/บาดเจ็บ มีการบาดเจ็บของระบบประสาท/หลอดเลือดที่สาคัญ ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตและการสูญเสียอวัยวะสำคัญ เป็นต้น