xs
xsm
sm
md
lg

ยกเครื่องระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินใน สธ.จับเจ้าหน้าที่อบรมทำซีพีอาร์-เครื่องเออีดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. คาดเวลารับแจ้งช่วยชีวิต “อดีตกองหลังทีมชาติ” คลาดเคลื่อน อาจเป็นที่ระบบ - สื่อสารคลาดเคลื่อน เหตุต้องซักถามอาการตามขั้นตอน ก่อนประสาน รพ. ใกล้สุด เตรียมยกเครื่องแจ้งเหตุฉุกเฉินใน สธ. ติดเบอร์สถาบันบำราศฯ ด้วย พร้อมอบรมเจ้าหน้าที่ทำซีพีอาร์ ด้านอุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ แนะให้หน่วยงานภายนอกประเมินการทำงาน 1669 ฝากความหวังเลขาฯ คนใหม่ นำพาระบบดีขึ้น

ความคืบหน้ากรณีการรายงานเวลารับแจ้งเหตุ 1669 ช่วยชีวิต นายบุญธรรม ธรรมานันท์ หรือ โก๋ อดีตกองหลังทีมชาติไทย ที่เกิดอาการหัวใจวายขณะซ้อมที่สนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ตรงกัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เพื่อนผู้เสียชีวิตโทร.แจ้งเวลา 17.18 น. และศูนย์รับแจ้งเหตุ รพ.พระนั่งเกล้า ประสานไปยังสถาบันบำราศนราดูร เวลา 17.23 น. ซึ่งต่างจากการรายงานครั้งแรกที่ระบุว่า ได้รับแจ้งตอนเวลา 17.23 น.

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัด สธ. กล่าวว่า ช่วงแรกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ตรวจสอบไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 รพ.พระนั่งเกล้า และได้รับข้อมูลว่า มีผู้แจ้งเหตุเวลา 17.23 น. แต่เมื่อมีการตรวจสอบจากทางคู่สายโทรศัพท์ของผู้แจ้งเหตุ ปรากฏว่า เป็นเวลา 17.18 น. ซึ่งตรงนี้อาจเป็นที่ระบบ หรือการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากทางศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 มีการซักถามอาการตามขั้นตอนต่างๆ และจึงประสานไปยังโรงพยาบาลใกล้ที่เกิดเหตุเพื่อนำรถฉุกเฉินออกทันที ซึ่งจริงๆ เวลาในการเดินทางของทีมฉุกเฉินยังอยู่ในเกณฑ์ของทาง สพฉ. กำหนด ประมาณ 8 - 10 นาที

“เรื่องนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อมีข้อเสนอจากเพื่อนๆ และผู้อยู่ในเหตุการณ์ช่วยชีวิตอดีตกองหลังทีมชาติ ว่า พื้นที่ภายใน สธ. ควรมีการจัดการเฉพาะ เนื่องจากอย่างสนามกีฬาช่วงเย็นๆ จะมีบุคคลภายนอกมาเล่นกีฬาจำนวนมาก หลายคนไม่ใช่บุคลากร หรือข้าราชการ ควรจัดระบบการช่วยเหลือฉุกเฉินใหม่ จึงได้สั่งการแล้วว่าจากนี้ไปพื้นที่ภายใน สธ. ต้องมีป้ายบอกเบอร์ติดต่อของสถาบันบำราศฯ ซึ่งขณะนี้สถาบันบำราศฯ กำลังพัฒนาศักยภาพรถฉุกเฉิน เครื่องมือต่างๆ เนื่องจากต้องเข้าใจว่าสถาบันบำราศฯ เป็นเหมือนห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เชื้อโรค เป็นโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ในเรื่องระบบแพทย์ฉุกเฉินอาจยังไม่ครบถ้วน แต่จะพัฒนามากขึ้นเพื่อรองรับ แต่เบอร์ 1669 ก็ยังต้องมี เนื่องจากเป็นระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีเครื่องมือครบถ้วนที่สุด” รองปลัด สธ. กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะมีการฝึกอบรมบุคลากรภายใน สธ. แต่ละกรม แต่ละส่วนของกรม และตามจุดที่มีโอกาสเสี่ยงต่างๆ มากขึ้น โดยจะฝึกอบรมการทำซีพีอาร์ หรือการช่วยชีวิตเบื้องต้น อย่างการปั๊มหัวใจ รวมทั้งการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) โดยให้เริ่มดำเนินการภายในสัปดาห์หน้าทันที

ด้าน นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยาไอเอสดีเอ็น และ เครื่องเออีดี ที่ใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน จะใช้คนละกรณี โดยยาไอเอสดีเอ็นเป็นยาแก้หัวใจขาดเลือด ใช้เมื่อเริ่มมีอาการชัก หายใจไม่ออก เพื่อป้องกันไม่ให้หัวใจตีบตัน หยุดเต้น และผู้ป่วยไม่หมดสติ สามารถนำส่งโรงพยาบาลได้ทัน อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวจะมีผลข้างเคียงต่อผู้ชายที่ใช้ยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในระยะ 2 - 3วัน จะทำให้ความดันตกถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมใช้ยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ก็ไม่ควรให้ยา ส่วนเครื่องเออีดีจะใช้กรณีที่กล้ามเนื้อหัวใจไม่มีมีกำลัง เต้นเร็วผิดปกติมากกว่า 100 ครั้ง/นาที เนื่องจากการทำงานไม่ประสานกัน และคลำชีพจรไม่ค่อยได้ อย่างไรก็ตาม หากหัวใจหยุดเต้น หรือไม่สามารถคลำชีพจรได้แล้ว เครื่องเออีดีก็จะใช้ไม่ได้ผลเช่นเดียวกัน

“สำหรับเครื่องเออีดี มีราคาตั้งแต่ไม่กี่หมื่นไปจนถึงหลักแสนบาท ซึ่งในรถกู้ชีพต่างๆ คิดว่าเป็นแบบราคาถูกที่เสียแล้วสามารถทิ้งไปได้เลย ดังนั้น จึงอยากให้ในรถกู้ชีพใช้ในแบบที่มีประสิทธิภาพและราคาแพงไปเลย ทั้งนี้ หากถามว่าในปัจจุบันเครื่องดังกล่าวเพียงพอหรือไม่ในระบบฉุกเฉิน ก็มองว่าเพียงพอ แต่สิ่งสำคัญมากกว่าประสิทธิภาพและราคา คือ การเตรียมความพร้อมของคน ซึ่งตอนนี้พบว่า เมื่อเกิดสถานการณ์จริงเจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้เครื่องดังกล่าวกับผู้ประสบเหตุได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เท่ากับว่า ซื้อมาตั้งทิ้งไว้เฉยๆ” นพ.สมชาย กล่าว

นพ.สมชาย กล่าวว่า สำหรับกรณีอดีตนักฟุตบอลทีมชาติเสียชีวิต ส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้ใจในระบบฉุกเฉินทั้งหมด ซึ่ง สพฉ. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบ ควรออกมาสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน ซึ่งวิธีแก้เดิมๆ คือ การรายงานการเกิดเหตุต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่ง สพฉ. จะใช้คนภายในหน่วยงานเป็นผู้สำรวจ ซึ่งผลออกมาก็ดีทุกอย่าง ขัดกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดปัญหาบ่อยครั้ง ดังนั้น เพื่อให้เห็นข้อบกพร่องและวิธีการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอกที่ทำงานเรื่องดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับทาง สพฉ. เป็นผู้ติดตามมาตรฐานดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้นำก็มีส่วนสำคัญที่จะนำพาระบบไปในทางที่ดี ซึ่งทราบว่าขณะนี้จะมีผู้มารับตำแหน่ง เลขาธิการ สพฉ. คนใหม่ ก็คาดหวังว่าจะนำพาระบบไปในทางที่ดีได้
กำลังโหลดความคิดเห็น