กรุงเทพฯ - เดินหน้าโครงการบ้านประชารัฐริมคลอง หลังจากที่ คสช. ใช้มาตรา 44 ยกเว้นกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคาร ผังเมือง และ พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้การก่อสร้างบ้านเร็วขึ้น รมว.พม. ตั้งเป้ารื้อย้ายและสร้างบ้านใหม่ในคลองลาดพร้าว และ คลองบางซื่อ ให้เสร็จภายในปี 2561 จำนวน 52 ชุมชน 7,081 ครัวเรือน เผย ยังมีชาวบ้านที่ไม่เข้าร่วมกว่า 1,435 หลังคาเรือน ขณะที่ กทม. เตรียมใช้ไม้แข็งกับชุมชนที่ยังไม่ยอมรื้อย้าย ทำให้การก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมมีความล่าช้า
ตามที่รัฐบาลมีโครงการจัดการสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลอง โดยจะมีการรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลอง และก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าว เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดทำโครงการบ้านประชารัฐริมคลองเพื่อรองรับชาวบ้านที่รุกล้ำคลอง แต่ที่ผ่านมา เกิดปัญหาความล่าช้า เนื่องจากติดขัดระเบียบการขออนุญาตก่อสร้าง กฎหมายผังเมือง และ พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ให้มีการยกเว้นการบังคับใช้บทบัญญัติบางมาตรา เพื่อให้โครงการบ้านประชารัฐริมคลองเดินหน้าต่อไปได้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่ซอยสายไหม 46 เขตสายไหม มีการจัดงาน “สร้างชุมชนใหม่เลียบคลองสอง โซน 3 บ้านประชารัฐริมคลอง” โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานในงาน มีผู้ร่วมงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวง พม. นายณรงค์ เรืองศรี รองผู้อำนวยการ สำนักการระบายน้ำ กทม. นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) รวมทั้งชาวบ้านจากเครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลองประมาณ 200 คนเข้าร่วมงาน ภายในงานมีการจัดนิทรรศการการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง มีพิธียกเสาเอกเพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ และผู้แทน กทม. ได้มอบใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ตัวแทนชาวชุมชน
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. กล่าวว่า ชุมชนเลียบคลองสอง โซน 3 เป็นชุมชนแรกในคลองลาดพร้าวที่ชาวบ้านได้รวมตัวกันจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่เนื้อที่ 4 ไร่เศษ รองรับชาวบ้านได้ 112 หลังคาเรือน เนื่องจากชุมชนเดิมมีความคับแคบ และอยู่ในแนวก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร จึงไม่สามารถรื้อย้ายและสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมได้ แต่ชุมชนใหม่ก็อยู่ห่างจากชุมชนเดิมเพียง 3 กิโลเมตร และใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพียงไม่กี่เดือน ชาวบ้านก็จะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงให้แก่ลูกหลาน โดยสถาบันพัฒนาองค์ชุมชน ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 53 ล้านบาทเศษ ส่วนชาวบ้านก็ได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน
“นอกจากชาวชุมชนริมคลองที่ลงเสาเอกสร้างบ้านใหม่ในวันนี้แล้ว ภายในสิ้นปีนี้จะดำเนินการอีก 33 ชุมชน รวม 3,672 ครัวเรือน ส่วนผู้ที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,000 ครัวเรือน เราก็จะใช้วิธีการเจรจา และจะใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นหนทางสุดท้าย แต่ผมหวังว่า เมื่อชาวบ้านที่ยังไม่เข้าร่วมเมื่อได้เห็นความสำเร็จของชุมชนต่างๆ แล้วก็คงจะเข้าร่วมโครงการ ” รมว.พม.กล่าว และบอกว่า ภายในปี 2561 นี้ กระทรวง พม. และ พอช. มีเป้าหมายที่จะดำเนินการรวม 52 ชุมชน จำนวน 7,081 ครอบครัว
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการ ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง มีอุปสรรคเกิดปัญหาความล่าช้า เนื่องจากโครงการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารหลายฉบับ และต้องได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจากกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตในพื้นที่ที่มีโครงการ เช่น มีข้อบังคับเรื่องระยะแนวร่นของอาคารกับถนนสาธารณะ ข้อบังคับการเว้นที่ว่างด้านหน้าและด้านหลังอาคาร ฯลฯ แต่เนื่องจากชุมชนริมคลองส่วนใหญ่มีพื้นที่คับแคบ ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารได้ ดังนั้น เมื่อ คสช. มีคำสั่งยกเว้นการบังคับใช้บทบัญญัติตามกฎหมาย จะทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองมีความรวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ คำสั่งของ คสช. ให้ยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ยังช่วยให้ชาวชุมชนริมคลองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้ เพราะตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว (ข้อ 42) กำหนดให้การก่อสร้างอาคารริมแหล่งน้ำสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ต้องเว้นระยะห่างจากแหล่งน้ำนั้นอย่างน้อย 6 เมตร ซึ่งในกรณีของชุมชนริมคลองนั้น หากนำข้อบังคับดังกล่าวมาใช้จะทำให้ชุมชนต่างๆ ไม่เหลือพื้นที่พอที่จะสร้างบ้าน ดังนั้น คสช.จึงมีคำสั่งให้ร่นแนวอาคารให้ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 2 เมตร
ส่วนการยกเว้นการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้าง และต้องรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวต่อหน่วยงานอนุญาต และสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปีละสองครั้ง ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ นายสมชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พอช. ได้ทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้จัดทำแผนงานดังกล่าวแล้ว และจะนำเสนอต่อ สผ.ได้ภายในต้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งหากผ่านการพิจารณาก็จะทำให้การขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองมีความรวดเร็วขึ้น
นายณรงค์ เรืองศรี รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายการจัดระเบียบริมคลองลาดพร้าว กทม. ได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนริมคลอง ระยะทาง 2 ฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตร ครอบคลุม 8 เขต โดยมีแผนการดำเนินการใน 50 ชุมชน ประมาณ 7,000 ครัวเรือน ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 ขณะนี้ได้ก่อสร้างเขื่อนในคลองลาดพร้าวแล้ว เป็นระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร มีความคืบหน้า 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งล่าช้ากว่าแผนงานที่วางไว้ เนื่องจากติดปัญหาชุมชนไม่ยอมรื้อย้ายออกจากพื้นที่ ทำให้มีอุปสรรคในการทำงาน
“เพื่อให้แผนการก่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จตามกำหนด กทม. จะลงพื้นที่เจรจาและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หากผลการเจรจาไม่สำเร็จ ชุมชนไม่ยอมรื้อย้าย ในขั้นตอนสุดท้ายอาจใช้มาตรการทางกฎหมายมาดำเนินการ” นายณรงค์ กล่าว
โครงการบ้านประชารัฐริมคลองลาดพร้าวในขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 7 ชุมชน รวม 675 ครัวเรือน เช่น ชุมชนสะพานไม้ 1, สะพานไม้ 2 เขตหลักสี่, ชุมชนบางบัว, ชุมชนสามัคคีร่วมใจ เขตบางเขน, ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ เขตสายไหม ฯลฯ ทั้งนี้ กระทรวง พม. และ พอช. มีเป้าหมายที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว และคลองบางซื่อ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 รวม 52 ชุมชน จำนวน 7,081 ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวบ้านที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการอีกหลายชุมชน รวม 1,435 ครัวเรือน