อธิบดี กสร. เผย ร่าง กม. คุ้มครองแรงงาน ฉบับใหม่ ช่วย “ลูกจ้าง” ลาออก เหตุย้ายสาขาพื้นที่ปฏิบัติงานตามคำสั่งไม่ได้ “นายจ้าง” ต้องจ่ายเงินชดเชยเท่ากับเลิกจ้าง เพิ่มโทษใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมาย เร่งจัดทำ กม. คุ้มครองแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน
วันนี้ (21 ก.พ.) ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กทม. นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเปิดงานสัมมนาไตรภาคีเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่อง ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ว่า ขณะนี้ กรมฯ จัดทำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว จึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องขึ้น ทั้งฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทยและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นการแก้ไขเพื่อสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างโดยเฉพาะ เช่น การเกษียณเท่ากับการเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย การเพิ่มค่าชดเชยตามอายุงาน จากเดิมกำหนดเพียงอายุงานเกิน 10 ปีขึ้นไป ได้รับการชดเชย 300 วัน ก็เพิ่มเป็นอายุงานเกิน 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชย 400 วัน รวมไปถึงสิทธิลาคลอดจำนวน 90 วัน ซึ่งปกติจะใช้หลังคลอด กำหนดชัดเจนว่า สามารถใช้ก่อนคลอดได้ เพื่อไปตรวจครรภ์หรือฝากครรภ์ โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่อายุครรภ์เกิน 28 สัปดาห์ขึ้นไป โดยยังได้รับค่าจ้างเช่นเดิม
“นอกจากนี้ ยังเพิ่มสิทธิกรณีถูกผู้ประกอบการสั่งให้ย้ายไปประจำพื้นที่ปฏิบัติงานอื่น ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ก็จะได้รับเงินค่าชดเชยเท่ากับการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดในอัตราใหม่ เช่น เดิมทำงานอยู่ในสถานประกอบการพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อถูกนายจ้างสั่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่สาขา จ.สระบุรี และลูกจ้างมีความจำเป็นไม่สามารถย้ายไปได้ ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้และขอลาออก ดังนั้น หากมีกฎหมายนี้ก็จะช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มที่ถูกย้ายไปปฏิบัติงานที่สาขาอื่นแล้วได้รับความเดือดร้อน ไปปฏิบัติงานไม่ได้ ให้หาหลักฐานข้อเท็จจริงความจำเป็นต่างๆ และไปยื่นร้องขอค่าชดเชยพิเศษได้ ก็จะได้รับค่าชดเชยตามอายุงาน รวมไปถึงกรณีการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมาย จากเดิมโทษจะอยู่ที่ 2 แสนบาทต่อกรณี แต่ร่างกฎหมายใหม่จะเพิ่มโทษเป็น 4 - 8 แสนบาทต่อราย คือ ไม่ว่ากรณีดังกล่าวจะมีเด็กกี่คนก็จะนับความผิดตามจำนวนเด็ก ซึ่งในงานสัมมนาก็ได้มีการชี้แจงในเรื่องนี้ด้วย” อธิบดี กสร. กล่าว
นายสุเมธ กล่าวว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะทำการประมวลปรับแก้ไข ก่อนเสนอ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการกฤษฎีกา และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม นอกจากการปรับปรุงร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อดูแลคุ้มครองแรงงานทั่วไปซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 กว่าล้านคน แล้ว พล.อ.ศิริชัย ยังกำชับให้ กสร. เร่งออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 ล้านคนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาจะมีเพียงการคุ้มครองเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เช่น กลุ่มคนรับใช้ในบ้าน แรงงานภาคการเกษตร และกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน แต่การออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบจะดูแลทั้งหมด ซึ่งแรงงานนอกระบบนั้นมีจำนวนหลายกลุ่ม ดังนั้น โดยหลักการก็จะเป็นการออกกฎหมายแบบกว้างๆ แล้วค่อยออกกฎหมายลูกคุ้มครองแต่ละกลุ่มต่อไป เช่น กลุ่มคนขับวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งในกรุงเทพฯ ก็มีอยู่ประมาณหลายแสนคน เป็นต้น โดยจะดูแลในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ การประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน รวมถึงเรื่องของการเจ็บป่วย ซึ่งก็จะได้รับการดูแลที่มากขึ้น