สถาบันโรคผิวหนัง เผย คนป่วย “โรคงูสวัด” เพิ่มขึ้น 10% เหตุอากาศเปลี่ยนแปลง ทำคนภูมิคุ้มกันต่ำลง ห่วงผู้ป่วยเอดส์ - มะเร็ง โอกาสเสี่ยงป่วยสูง แนะออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารครบ 5 หมู่ ช่วยร่างกายแข็งแรง ป้องกันเกิดโรค
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยโรคงูสวัดเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่ำลง จากการเก็บข้อมูลของสถาบันโรคผิวหนังในแต่ละปีจะพบผู้ป่วย 700 - 800 ราย แต่ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 15 ก.พ. กลับพบผู้ป่วยถึง 98 ราย ซึ่งเมื่อเฉลี่ยแล้วจะพบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มมากกว่าปกติ 10% ทั้งนี้ อาการของงูสวัดจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกจะมีไข้ต่ำ ปวดเมื่อย เจ็บปวดแสบปวดร้อนตามร่างกายบริเวณที่กำลังจะขึ้นผื่น เพราะเส้นประสาทเกิดการอักเสบ ระยะที่ 2 จะมีผื่น และเป็นตุ่มแดงขึ้นก่อนกลายเป็นตุ่มน้ำพองใส และระยะที่ 3 จะมีการเรียงตัวของผื่นตามแนวเส้นประสาทและที่พบบ่อยจะเป็นบริเวณไขสันหลังข้างใดข้างหนึ่ง บริเวณใบหน้า เป็นต้น และโดยปกติของคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติ จะเกิดจากโรคตามแนวเส้นประสาทเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า กลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก อาทิ ผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคมะเร็ง มีโอกาสสูงที่จะเกิดโรคได้ทั้ง 2 ข้างของแนวเส้นประสาท ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มักเรียกว่าเกิดอาการโรคงูสวัดพันรอบตัว คือ ออกผื่นทั้งเส้นประสาทด้านซ้ายและขวา โดยหากเกิดทั้ง 2 ข้าง ก็อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนของโรค เช่น มีอาการปอดอักเสบร่วมด้วย และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ส่วนตำแหน่งที่น่ากลัวของการป่วยโรคงูสวัด คือ บริเวณแนวเส้นประสาทที่เลี้ยงใบหน้า เพราะอาจทำให้ตาบอดได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำและผู้สูงอายุ ภายหลังจากที่หายจากอาการของโรคแล้ว บางครั้งอาจจะต้องเผชิญกับอาการปวดเหมือนไฟช็อตอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การเป็นงูสวัดถือเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายของเรากำลังมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ดังนั้น จึงควรไปตรวจเช็กร่างกายเพิ่มเติม เพราะอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคเอดส์ มะเร็ง และที่พบส่วนใหญ่คือ ร่างกายอาจเกิดความเครียดจัด สำหรับระยะเวลาในการป่วยจะอยู่ที่ประมาณ 7 - 10 วัน แต่หากคนภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้สูงอายุ อาจมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทต่ออีกระยะ
“โรคงูสวัดไม่ได้อันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน อย่างไรก็ตาม โรคงูสวัดขณะนี้มียารักษาทั้งแบบยาฉีดและยากิน ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะให้เป็นยาแบบกินเท่านั้น และยาดังกล่าวยังอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ทุกสิทธิการรักษาสามารถเข้าถึงยาได้ ทั้งนี้ การรับประทานยานั้น ยิ่งได้รับยาเร็วยิ่งเป็นผลดีกับผู้ป่วย สำหรับวิธีป้องกัน คือ ทำร่างกายให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกาย และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น ส่วนในกลุ่มเด็กเล็กหากมีทุนทรัพย์เพียงพออยากฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสก็สามารถฉีดได้ เพราะโรคงูสวัด 99% เกิดจากการเชื้อไวรัสตัวเดียวกับอีสุกอีใส ที่ซ้อนอยู่ในร่างกายของผู้ที่เคยป่วยเป็นอีสุกอีใสทุกคน และเมื่อร่างกายอ่อนแอ เชื้อไวรัสดังกล่าวก็จะแสดงอาการออกมาทำให้เป็นโรคงูสวัด” พญ.มิ่งขวัญ กล่าว