รักษาการ ผอ.พอช. แจงข่าวบ้านประชารัฐริมคลอง ยืนยันทำตามนโยบายของรัฐบาลอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ เพื่อให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เปลี่ยนจากผู้บุกรุกเป็นผู้เช่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมอาชีพและรายได้ เผยดำเนินการเสร็จไปแล้ว 4 ชุมชน รวม 549 ครัวเรือน ตั้งเป้าปีนี้ 33 ชุมชน รวม 3,672 ครัวเรือน
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) กล่าวชี้แจงกรณีตัวแทนเครือข่ายสิทธิชุมชนคนริมคลองยื่นหนังสือร้องเรียนถึงสื่อฉบับหนึ่ง กล่าวหาว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาชุมชนริมคลองของภาครัฐ และ พอช. ดำเนินการไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย และมีการทุจริตไม่โปร่งใสว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะและการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ซึ่งจะก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ โดยการสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำในคลองลาดพร้าว โดยกองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 5 กิโลเมตร จากระยะทางทั้งหมด (ทั้ง 2 ฝั่ง) ประมาณ 45 กิโลเมตร
ส่วน พอช. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำแผนงานรองรับเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลอง ซึ่งจะต้องมีการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกจากลำคลอง โดยเฉพาะบ้านเรือนและชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดินริมคลอง ซึ่ง กรมธนารักษ์ ดูแลอยู่ แต่เพื่อให้ประชาชนสามารถอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้ กรมธนารักษ์ จึงมีนโยบายให้นำที่ดินที่เหลือ หรือพ้นจากแนวก่อสร้างเขื่อนมาให้ประชาชนเช่าในระยะยาวครั้งละไม่เกิน 30 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาการเช่าสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด หลังจาก 30 ปี กรมธนารักษ์ จะพิจารณาให้สิทธิชุมชนในการเช่าที่ดินต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนที่จะทำสัญญาเช่าที่ดิน จะต้องรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์เคหสถานและเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง เพื่อให้การบริหารจัดการทั้งเรื่องการเช่าที่ดินและก่อสร้างบ้านเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ
รักษาการ ผอ.พอช. กล่าวว่า หลักการสำคัญของบ้านประชารัฐริมคลอง คือ หนึ่ง หากชุมชนใดสามารถอยู่ในที่ดินเดิมได้ จะต้องทำการปรับผังชุมชนใหม่ทั้งหมด เพราะพื้นที่ริมคลองมีความคับแคบ ดังนั้นทุกครอบครัวจะได้รับสิทธิ์และขนาดของที่ดินที่สามารถอยู่ในที่ดินเดิมได้ โดยรื้อย้ายและสร้างบ้านใหม่ เพื่อให้ทุกครอบครัวอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้ สอง หากชุมชนใดมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ชาวบ้านอาจจะรวมตัวกันไปหาที่ดินแปลงใหม่ที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิมเพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ
และ สาม หากไม่มีที่ดินที่เหมาะสม พอช. จะประสานกับการเคหะแห่งชาติเพื่อหาที่อยู่อาศัยรองรับชาวบ้าน เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร โดย พอช. จะสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาที่อยู่อาศัย และให้สินเชื่อในวงเงินไม่เกิน 360,000 บาท ระยะเวลาผ่อนส่ง 15 - 20 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี ส่วนชาวบ้านจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่วมกันบริหารและจัดการเอง โดยมี พอช. และหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน เพื่อให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง
นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาคุณสมบัติของชาวบ้านที่จะได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ เช่น ต้องอยู่อาศัยในชุมชนจริง หากเป็นคนที่เช่าบ้านจะต้องอยู่อาศัยในชุมชนมานานอย่างน้อย 5 ปี ส่วนเจ้าของบ้านเช่าหรือผู้ที่มีบ้านหลายหลังจะได้รับสิทธ์เดียว เช่นเดียวกับชาวบ้านคนอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งชาวบ้านจะมีกระบวนการพิสูจน์ผู้ที่มีสิทธิ์ เพื่อไม่ให้มีการสวมสิทธิ์ เน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกหรือคนในชุมชนในการตรวจสอบ
“โครงการบ้านประชารัฐริมคลอง พอช. ใช้กระบวนการเดียวกับการดำเนินการบ้านมั่นคงที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน มีแนวทางสำคัญคือ ให้คนในชุมชนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาและจัดการตนเอง โดยมีภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกันของคนในชุมชน” นายสมชาติกล่าว
สำหรับการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านนั้น นายสมชาติ กล่าวว่า พอช. ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดชุดปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์ชุมชนริมคลองที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากพอช. ผู้นำชุมชน สำนักงานเขต ตำรวจ และทหาร ซึ่งผ่านการฝึกอบรมการทำงานมวลชน จะลงพื้นที่เพื่อพูดคุยสร้างความเข้าใจแก่ชาวชุมชนเกี่ยวกับความจำเป็นในการพัฒนาพื้นที่ริมคลองตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ จะเน้นการพูดคุยเพื่อสร้างความสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นการข่มขู่ประชาชนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ พอช. ได้จัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง โครงการ “บ้านประชารัฐริมคลอง” ในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2559 - 2561) มีเป้าหมาย 52 ชุมชน รวม 7,081 ครัวเรือน โดยในปี 2559 - 2560 จะดำเนินการในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อก่อน จำนวน 33 ชุมชน รวม 3,672 ครัวเรือน ส่วนพื้นที่ที่จะดำเนินการอยู่ในเขตสายไหม ดอนเมือง บางเขน หลักสี่ จตุจักร ห้วยขวาง และวังทองหลาง โดยในขณะนี้สร้างบ้านเสร็จไปแล้ว 4 ชุมชน รวม 549 หลัง
นายสมชาติ กล่าวด้วยว่า นอกจากการสนับสนุนให้ประชาชนมีบ้านเรือนที่มั่นคง และเช่าที่ดินระยะยาวอย่างถูกกฎหมายแล้ว พอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวง พม. กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตต่างๆ ในพื้นที่ กรมธนารักษ์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฯลฯ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้ดีขึ้น เช่น มีสวนหย่อม มีทางจักรยานเลียบคลอง มีสนามเด็กเล่น มีบ้านกลางสำหรับผู้ด้อยโอกาสในชุมชนได้อยู่อาศัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ส่วนประชาชนที่ใช้สินเชื่อจาก พอช. มีภาระผ่อนส่งบ้านประมาณเดือนละ 2,000 - 2,500 บาท ซึ่ง พอช. ได้สำรวจข้อมูลครัวเรือนเรื่องรายรับ - รายจ่ายแล้ว พบว่า ชาวชุมชนสามารถผ่อนส่งได้ นอกจากนี้ พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีแผนการในการสร้างเสริมอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้แก่ชาวชุมชน เช่น การรับซื้อข้าวสารจากชาวนาแล้วนำมาจำหน่ายในราคาถูกให้แก่ชาวบ้าน ฯลฯ
สำหรับประเด็นร้องเรียนว่าการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของ พอช. มีการหักค่าหัวคิวในการดำเนินงานต่างๆ รวมทั้งการทุจริตในการดำเนินโครงการนั้น นายสมชาติ กล่าวว่า การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของ พอช. ไม่ได้มีการหักค่าหัวคิวในการดำเนินงานแต่อย่างใด และการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์นั้น ชาวบ้านแต่ละชุมชนจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ขึ้นมาเพื่อบริหารงานเอง เช่น มีฝ่ายบัญชี ฝ่ายตรวจสอบ ฯลฯ เพื่อให้การบริหารงานมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้