xs
xsm
sm
md
lg

ชวนสมัครใจ “เลิกบุหรี่” เพื่อพ่อหลวงได้ 2 แสนคน พบ “เลย” จำนวนสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมออนามัย เผย โครงการเลิกบุหรี่ “3 ล้าน 3 ปี” ชวนคนร่วมโครงการได้ 2 แสนคน เร่งทำยอดเพิ่มสิ้นสุดปีแรกให้ได้ 5.6 แสนคน ชี้ “เลย” ยอดคนสมัครใจเลิกบุหรี่สูงสุด

นายธาดา วรรธนปิยกุล ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” ว่า ผลงานในภาพรวมเป้าหมายปีแรก วันที่ 31 พ.ค. 2560 จะมีรายชื่อผู้สมัครใจเลิกสูบบุหรี่ในโครงการ จำนวน 560,000 คน ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้สมัครใจเลิกสูบบุหรี่เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 201,521 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 35.98 นอกจากนี้ พบว่า จังหวัดที่มีผลการดำเนินงานชักชวนผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการสูงสุด 4 จังหวัด ได้แก่ เลย จำนวน 12,399 คน นครสวรรค์ จำนวน 12,314 คน อุดรธานี จำนวน 10,291 คน และ มหาสารคาม จำนวน 8,542 คน ทั้งนี้ เหลือเวลาประมาณ 4 เดือน จะครบระยะเวลาในปีแรกของการดำเนินงาน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ในการเชิญชวน ชักชวนคนเลิกบุหรี่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

นายบุญเทิน จันทมาตย์ สาธารณสุขอำเภอผาขาว จังหวัดเลย หัวหน้าโครงการจังหวัดเลย กล่าวว่า วิธีการทำงานที่ทำให้จังหวัดเลยมียอดผู้สมัครใจเลิกบุหรี่ที่เข้าร่วมโครงการสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศนั้น เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือ ร่วมใจของทุกภาคส่วน โดยก่อนเริ่มจะมีการสำรวจข้อมูลเพื่อให้สามารถกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนได้ ทั้งนี้ จังหวัดเลย มี 14 อำเภอ ประชากรทั้งสิ้น 638,880 คน เพศชาย 321,611 คน เพศหญิง 317,277 คน และ อสม. ทั้งจังหวัด มี 13,880 คน เป้าหมายท้าชวนคนเลิกบุหรี่ อสม. 1 คน ต่อ คนสมัคร 1 คน โดยจังหวัดเลยจึงกำหนดเป้าหมายมีผู้เลิกสูบปีแรก คือ 11,664 คน แต่ขณะนี้สามารถทำได้แล้วถึง 12,399 คน ส่วนวิธีทำงาน คือ มีการประชุมชี้แจงโครงการแก่ อสม. และให้ประชาสัมพันธ์ท้าชวนคนเลิกบุหรี่ มีเป้าหมาย คือ กลุ่มวัยแรงงาน ไปให้ความรู้ สร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ และ ติดสติกเกอร์บ้านหลังนี้ไม่สูบบุหรี่ให้กับผู้สมัครใจที่สามารถเลิกบุหรี่ได้

“นอกจากนี้ ยังประสานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกแห่งร่วมพัฒนาศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถผู้รับผิดชอบงานบุหรี่ รพ.สต. สสอ. และ รพ. และประสานงานองค์กรภาคีเครือข่ายระดับอำเภอเข้าร่วมโครงการ ร่วมเลิกบุหรี่และขับเคลื่อนโครงการ ตลอดจนให้ความรู้ด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องแก่ อสม. เช่น เทคนิคการเลิกบุหรี่เทคนิคการให้กำลังใจ พร้อมรวบรวมใบสมัครจาก อสม. บันทึกลงในเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง” นายบุญเทิน กล่าวและว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จมาจากทุกพื้นที่มีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และบุคลากรสาธารณสุขที่เข้มแข็ง เป็นผู้ขับเคลื่อนชักชวนประชาชนเข้าร่วมโครงการ มีหน่วยบริการสาธารณสุขที่มีคลินิกอดบุหรี่ ผู้ปฏิบัติงานมีทักษะ วิธีการเลิกบุหรี่และใช้สมุนไพรเสริมในการช่วยเลิกบุหรี่ ร่วมด้วยการจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างกระแส ชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการ ทั้งในส่วนของหัวหน้าส่วนราชการ ท้องถิ่น โรงเรียน ฯลฯ มีการติดตามโครงการที่ต่อเนื่องทุกเดือน ตลอดจนบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนทุกระดับ และจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติบุคคลต้นแบบผู้ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้

นายบุญเทิน กล่าวว่า การทำงานก็ยังมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง คือ ผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่จะกลับไปสูบซ้ำ อาจเกิดจากขาดความมั่นใจว่าตนเองจะสามารถเลิกได้ ขาดกำลังใจ ไม่อดทน อดกลั้นต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ จึงต้องทำอย่างจริงจัง การเลิกบุหรี่เป็นเรื่องที่ท้าทาย เมื่อตั้งใจเลิกกำหนดเป้าหมายที่แน่ชัด มีแผนการเลิกที่รอบคอบ มีความเชื่อมั่น ตั้งใจในตนเอง ก็จะสามารถจะทำเรื่องยากและท้าทายได้สำเร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น