สธ. เดินหน้า “โครงการเฉลิมพระเกียรติ” ทุกพระองค์ เร่งจับมือ 4 กระทรวงใช้เครื่องมือเดียวกันพัฒนาการเด็กให้ฉลาด สูงสมวัย พร้อมหนุนงบควบคุมโรคหนอนพยาธิในนักเรียนพื้นที่สูง ลดการติดเชื้อให้เหลือต่ำกว่าร้อยละ 10
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าภายหลังประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและกำกับติดตามการพัฒนางานโครงการพระราชดำริโครงการเฉลิมพระเกียรติและโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ ว่า สธ. ได้ให้ความสำคัญการดำเนินงานสนองแนวพระราชดำริทุกโครงการ ได้ติดตามความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน โดยในส่วนของสถานพยาบาลมี 4 โครงการ คือ 1. โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งมี 10 แห่งทั่วประเทศ ซึ่ง สธ. จะสนับสนุนให้เป็นโรงพยาบาลที่มากกว่าโรงพยาบาล คือ เป็นโรงพยาบาลของประชาชน เช่น มีสนามเด็กเล่นให้เด็ก เป็นศูนย์เรียนรู้ของประชาชนในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาช่วยส่งเสริม เป็นต้น 2. โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง โดยในทศวรรษที่ 2 มีการเตรียมแผนยุทธศาสตร์แล้ว 3. สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้ง 90 แห่ง และ 4. โครงการสุขศาลาพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นพ.โสภณ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะนำไปเชื่อมโยงกับนโยบายการมีลูกช่วยชาติ โดยจะมีการบูรณาการทำงานร่วมกัน 4 กระทรวง ได้แก่ สธ. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อทำให้เด็กไทยมีพัฒนาการที่ดีสมวัย มีความฉลาดทางปัญญา (ไอคิว) และความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ดี และเร็วๆ นี้ ทั้ง 4 กระทรวงจะมีการลงนามร่วมกัน เพื่อวางกรอบการทำงานที่ชัดเจนในการพัฒนาคุณภาพเด็กตาม 4H คือ ด้านสติปัญญา (Head) ด้านทัศนคติ (Heart) ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง (Hands) และ ด้านสุขภาพ (Health) เพื่อใช้เป็นเป้าหมายเดียวกันในการดำเนินงาน
“ยกตัวอย่างการใช้ระบบข้อมูลเดียวกัน เช่น ข้อมูลเรื่องการจ่ายเงินอุดหนุนเด็กคลอดใหม่ของ พม. กับข้อมูลการเกิดของเด็กของ สธ. หรือ มท. หรือการใช้นิทานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เช่น จะสอนให้มีความกตัญญู มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ ควรเป็นอย่างไร คู่มือการตรวจพัฒนาการเด็กว่า วัยนี้ควรทำอะไรได้แล้วบ้าง เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีการดูแลประชาชนในถิ่นทุรกันดารอย่างต่อเนื่อง รวมกับการดูแลเรื่องหนอนพยาธิในพื้นที่สูงให้พบต่ำกว่า 10% หรือไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก และจะมีการทำโครงการตรวจเช็กสุขภาพ สามเณร เป็นต้น” ปลัด สธ. กล่าว