จิตแพทย์ชี้ “เด็ก” เข้าถึงข้อมูลเรื่อง “เพศ” ง่ายผ่านปลายนิ้ว ห่วงไม่ใช่ข้อมูลเชิงความรู้ แต่เป็นสื่อลามกอนาจาร ซ้ำ พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกน้อย ช่วยดูแลการใช้สื่อของลูกยาก เยาวชนแนะพ่อแม่พูดคุยเรื่องเพศกับลูก ช่วยครอบครัวกล้าพูดต่อกันมากขึ้น
นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ จิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีเสวนา เรื่อง “เพศในสื่อสมัยใหม่” ในการประชุมระดับชาติ เรื่องสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 2 “SEX เปิดในวัยรุ่น : เปิดพื้นที่ความฉลาดรู้เรื่องเพศ” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า จากข้อมูลการใช้สื่อใน 24 ชั่วโมง ของกลุ่มวัยต่างๆ โดยกลุ่มเด็ก พบว่า ใช้เวลาอยู่กับสื่อทั้งโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย และเกม ราว 6-7 ชั่วโมง เรียนและนอน 16 ชั่วโมง และอยู่กับพ่อแม่แค่ 1 ชั่วโมง ส่วนกลุ่มวัยรุ่นใช้เวลาอยู่กับสื่อ 7-8 ชั่วโมง อยู่กับพ่อแม่ราว 1.5 ชั่วโมง และกลุ่มผู้ปกครอง ใช้เวลากับสื่อ 6 ชั่วโมง มีเวลาอยู่กับลูกแค่ 2 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่าพ่อแม่ลูกมีเวลาที่สร้างสรรค์ร่วมกันน้อยมาก ดังนั้น การจะให้พ่อแม่ช่วยดูการใช้สื่อของลูกก็ยิ่งยาก โดยเฉพาะปัจจุบันเด็กและวัยรุ่นมักใช้ในห้องส่วนตัว ขณะที่การเข้าถึงเรื่องเพศในอินเทอร์เน็ตทำได้ง่าย แต่ข้อมูลที่ได้ไม่ใช่เชิงความรู้ และยังอยู่ในรูปของคลิกเบตที่หลอกล่อให้กดเข้าไปดูด้วย มีทั้งโป๊ เปลือย สื่อลามกอนาจาร เกม และเรื่องที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ พบว่า 50% ของเด็กเคยเจอรูปโป๊เปลือยในอินเทอร์เน็ตผ่านการค้นหา และคำว่าเซ็กซ์ (sex) ยังเป็นคำค้นที่นิยมตลอดกาล
“จากการสำรวจวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาในเขต กทม. พบว่า เพศชาย 21% และเพศหญิง 17% เจอรูปโป๊ เปลือยในการใช้อินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเพศชาย 14% และเพศหญิง 11% เคยคลิกเข้าไปดู เพศชาย 20% เพศหญิง 19% ถูกชักชวนให้มีกิจกรรมทางเพศโดยไม่ต้องการ เพศชาย 8% เพศหญิง 6% ผู้อื่นชักชวนให้มีเซ็กซ์ทางอินเทอร์เน็ต เพศชาย 6% เพศหญิง 3% เคยไปเจอผู้ที่ชักชวน และเพศชาย 5% เพศหญิง 1% มีเซ็กซ์จริง ซึ่งเหล่านี้จะนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ท้องไม่พร้อม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น” นพ.คมสันต์ กล่าว
นายดารัณภพ พวงสมบัติ เยาวชนผู้ผลิตสื่อสมัยใหม่ กล่าวว่า มีข้อมูลระบุว่า 86% ของผู้ชายถึงเรื่องทางเพศโดยพ่อแม่ไม่รู้ ส่วนใหญ่ผ่านสื่อออนไลน์ อาจใช้ช่วงเวลาที่อยู่คนเดียว หรือลับสายตาผู้ใหญ่ ยิ่งปัจจุบันเด็กมีมือถือส่วนตัว แม้จะนั่งใช้มือถือต่อหน้าพ่อแม่ แต่ใส่หูฟัง เด็กอาจจะกำลังเข้าถึงสื่อลามกอยู่ก็ได้ ถือเป็นเรื่องง่ายมาก สิ่งสำคัญต้องสร้างความเข้าใจเรื่องเพศกับเด็กและวัยรุ่น ด้วยการเริ่มจากเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปกครองให้เข้าใจว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องน่าอาย ดังนั้น ถ้าผู้ปกครองเห็นลูกค้นเรื่องเพศผ่านสื่อ ต้องพูดคุยด้วยความเข้าใจ และชี้แนะ อย่าดุด่า หรือห้ามโดยไม่ให้เหตุผล หรือใช้อารมณ์ ส่วนตัวเชื่อว่า วัฒนธรรมและค่านิยมของสังคม จะส่งผลต่อเซ็กซ์ในวัยรุ่นมากกว่าอิทธิพลจากสื่อ ดูจากการที่ประเทศไทยมีอาชญากรรมการข่มขืนมากกว่าญี่ปุ่นถึง 7 เท่า ทั้งที่ญี่ปุ่นมีการวางขายสื่อลามกอนาจารจำนวนมาก แต่การเปิดเสรีสื่อที่มีลักษณะยั่วยุทางเพศก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรดำเนินการ แต่ควรมีการเปิดพื้นที่สื่อเรื่องเพศให้เหมาะสมกับแต่ละวัย อย่าปิดทั้งหมด และผู้ปกครองต้องเริ่มให้ความใส่ใจอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เด็กเริ่มเข้าถึงสื่อ เพื่อให้เด็กคุ้นชิน และไม่รู้สึกว่าถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวและกล้าที่จะเปิดการใช้สื่อกับผู้ปกครอง
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อดิจิทัลและสื่อสมัยใหม่ กล่าวว่า สื่อใหม่ยังไม่มีหน่วยงานใดควบคุมและตนเชื่อว่าไม่มีทางควบคุมได้ อย่างโทรทัศน์จะมีเรตติงกำหนดอายุคนดู แต่โซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่มี จึงมีการสื่อสารเรื่องเพศลักษณะข้ามสื่อ เช่น เมื่อเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์แล้วยังสามารถดูย้อนหลังในสื่ออื่นได้อีกและเข้าถึงตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันการสื่อสารเรื่องเพศของผู้หญิง มีซีรีส์ล่าผู้ชายจำนวนมาก เป็นการทะเลาะกันเรื่องผู้ชาย ดังนั้น แก้ไขด้วยการให้การเรียนรู้เรื่องเพศที่ถูกต้อง เหมาะสมแต่ละวัยและให้เด็กรู้จักการรู้เท่าทันสื่อ โดยควรทบทวนตำราเรียน ให้มีการสื่อสารให้ความรู้เรื่องตั้งแต่ระดับประถมฯ ทั้งนี้ การเข้าถึงเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมบางครั้งไม่ใช่เพราะเด็ก แต่เป็นเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองสนับสนุนอย่างเป็นทางการ เช่น ใน ร.ร.อนุบาลให้เด็กเต้นโชว์เลียนแบบนักร้องที่ใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น และให้เด็กใส่เสื้อผ้าวับๆ แวมๆ ด้วย ซึ่งกว่าที่เด็กจะเต้นเลียนแบบได้ต้องดูตัวอย่างไม่ต่ำกว่า 50 รอบก็จะเกิดการฝังจำในเด็ก จึงต้องให้การศึกษาเรื่องการรู้เท่าทันดิจิทัลมากขึ้น