xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยพบ “เลี้ยงลูกเอง” เด็กมีคุณภาพกว่าฝากเลี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิจัยพบ “แม่วัยรุ่น” และครอบครัว อยากได้คนเลี้ยงดู “เด็ก” แทน เหตุต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เสนอพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทุกตำบลขยายการดูแลมาถึงเด็กอ่อนอายุ 1 เดือน เผยงานวิจัยญี่ปุ่นชัดเจน “แม่เลี้ยงลูกเอง” เด็กโตมามีคุณภาพกว่า

ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอผลการวิจัยความต้องการของแม่วัยรุ่นต่อการจัดสวัสดิการสังคม ในการประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 2 “Sex เปิดในวัยรุ่น” ว่า จากการทำวิจัยเชิงมานุษยวิทยา ด้วยการสัมภาษณ์ครอบครัวแม่วัยรุ่นประมาณ 50 ครอบครัว ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สุพรรณบุรี นครปฐม อ่างทอง และ นครพนม ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 - 2559 สิ่งที่แม่วัยรุ่นและครอบครัวสะท้อนออกมาตรงกัน 100% คือ ต้องการคนที่จะมาเลี้ยงลูก เนื่องจากต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งในบ้านที่ต้องอยู่ดูแลเด็กที่เพิ่งคลอดออกมา หากไม่ใช่แม่ ก็อาจจะต้องเป็นย่าหรือยาย เท่ากับว่า จะเสียแรงงานที่จะหาเลี้ยงครอบครัวไป 1 แรงในทุกๆ วัน แม้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะมีเงินอุดหนุนการเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 600 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอ จึงต้องการบุคคลที่จะมาช่วยเลี้ยงดูลูก เพื่อสามารถออกไปทำงานได้ตามปกติ

ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า จากผลการวิจัยทำให้เกิดข้อเสนอใน 2 ประเด็น คือ 1. ควรมีสถานเลี้ยงเด็กอ่อนถึงก่อนวัยอนุบาลในทุกตำบล ซึ่งจริงๆ แล้วกระทรวงมหาดไทย (มท.) มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกระจายอยู่ทุกตำบล แต่ข้อกำหนดคือ จะเริ่มรับดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 1 ขวบครึ่งขึ้นไป จึงเสนอว่า ควรพัฒนาศูนย์เด็กเล็กของ มท. ให้เริ่มดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 1 เดือน โดยจะต้องพัฒนาบุคลากรของศูนย์ฯ ให้สามารถดูแลเด็กอ่อนได้ด้วย ซึ่ง พม. จะต้องเข้ามาสนับสนุนการอบรมตรงนี้ เนื่องจากบ้านพักเด็กและครอบครัวของ พม. เองนั้น จะมีแค่ในตัวเมืองเท่านั้นจังหวัดละ 1 แห่งเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ และ 2. พม. ต้องบ่มเพาะปลูกฝังความเป็นแม่ให้แก่แม่วัยรุ่น เพราะจากการวิจัยพบว่าแม่วัยรุ่นมี 2 ประเภท คือ กลุ่มท้องในวัยเรียน เป็นกลุ่มที่ไม่มีความพร้อม ต้องออกจากการเรียน ไม่มีทักษะอาชีพ เลี้ยงลูกไม่เป็น ทำให้ไม่มีความเป็นแม่ในตัว อีกกลุ่มคือกลุ่มที่เรียนจบ ป.6 หรือ ม.3 แล้วเข้าสู่ระบบการทำงาน แต่แต่งงานและมีลูกไว กลุ่มนี้จะมีความพร้อมที่จะมีบุตรก็จะดูแลเด็กได้ ไม่ใช่แค่จัดสวัสดิการรองรับอย่างเดียวเท่านั้น

“พม. เห็นด้วยกับข้อเสนองานวิจัยที่จะต้องร่วมมือกับท้องถิ่นพัฒนาศูนย์ฯ และบุคลากรเพื่อดูแลเด็กอ่อน และมีนโยบายที่จะศึกษาต้นทุนการเลี้ยงดูเด็กให้ชัดเจนว่าตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี ต้องใช้เงินในการดูแลเท่าไรต่อคน เป็นเงินในด้านใดบ้าง เช่น การดูแลสุขภาพ การศึกษา เพื่อจะได้สนับสนุนงบประมาณอย่างเหมาะสม” ดร.กนกวรรณ กล่าวและว่า การขยายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกตำบลให้ดูแลเด็กอ่อนได้ ไม่เพียงมีประโยชน์กับแม่วัยรุ่น ยังมีประโยชน์กับแม่ทั่วไปด้วย เพราะต้องเข้าใจว่าแม้ประเทศไทยจะมีสิทธิลาคลอดได้ 3 เดือน แต่ในความเป็นจริง โดยเฉพาะลูกจ้างมักถูกเรียกตัวกลับมาทำงานก่อนครบ 3 เดือน หากมีศูนย์ฯ ที่ดูแลเด็กอ่อนที่ได้มาตรฐานช่วยดูแลก็จะเป็นประโยชน์ด้วย เพราะเมื่อพิจารณารายตำบล จะมีแม่วัยรุ่นอยู่ประมาณตำบลละ 3 - 5 คนเท่านั้น จึงสามารถดูแลเด็กที่เกิดจากแม่ที่มีความพร้อมได้ด้วย

ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า การเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเองถือว่าดีที่สุด เพราะมีงานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นที่เปรียบเทียบชัดเจนว่า ระหว่างแม่ที่ออกจากงานมาเลี้ยงลูกเองเป็นเวลา 3 ปี และกลุ่มที่ฝากคนอื่นเลี้ยง พบว่า เด็กที่แม่เลี้ยงเองโตมามีคุณภาพมากกว่า เด็กมีความเป็นตัวของตัวเอง สุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยบ่อย มีสุขภาพจิตที่ดี การบกพร่องทางอารมณ์น้อยกว่า ขณะที่การเรียนรู้ก็ไวกว่าด้วย ซึ่งหากประเทศไทยทุ่มเทในเรื่องนี้ โดยสนับสนุนให้แม่ออกมาเลี้ยงลูกด้วยตัวเองจะมีความคุ้มค่าในระยะยาวมากกว่า อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ถือเป็นการลงทุนเรื่องการพัฒนาคนตั้งแต่แรกเกิด โดยรัฐบาลอาจให้เงินสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยตัวเองจำนวน 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเทียบจากค่าจ้างวันละ 300 บาท หากทำงานทุกวันก็อยู่ที่ประมาณ 9,000 บาทต่อเดือน มองว่าเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่า เพราะเมื่อเทียบแล้วผู้ต้องขังที่ทำความผิด รัฐเสียงบประมาณในการดูแลคนเหล่านี้มากกว่า 10,000 บาทต่อคนต่อเดือนเสียอีก หากสนับสนุนการเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเองแต่แรกเกิดเช่นนี้ก็จะเป็นการพัฒนาให้เด็กมีคุณภาพ ลดโอกาสการกระทำผิดในอนาคตได้
กำลังโหลดความคิดเห็น