xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจ “เส้นก๋วยเตี๋ยว” เจอสารกันเสียเกินมาตรฐาน 19% แนวโน้มลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมวิทย์เผยผลตรวจ “เส้นก๋วยเตี๋ยว” เจอวัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกำหนดร้อยละ 19 ชี้ แนวโน้มการเจอลดลงในรอบ 10 ปี ปริมาณสูงสุดที่พบก็ลดลง แนะผู้บริโภคลวก ต้ม เส้นให้สุก ช่วยทำลายวัตถุกันเสียได้ หากเข้าสู่ร่างกายจะถูกขับออกทางปัสสาวะ

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่ข้อมูลการตรวจพบวัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยว ว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเก่าจากงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี 2550 เสนอโดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี ที่ตรวจพบว่ามีการใช้วัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยวเกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนด และจากการนำเสนอข้อมูลงานวิจัยนี้ ในปี 2551 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ได้ร่วมดำเนินงานภายใต้โครงการก๋วยเตี๋ยวอนามัยขึ้น ซึ่งมีมาตรการที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ควบคุมเรื่องการใช้ปริมาณวัตถุกันเสียและสุขลักษณะการผลิตที่ดี (GMP) ส่งผลให้การใช้วัตถุกันเสียลดลง

นพ.สุขุม กล่าวว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทย์ ได้ติดตามผลการดำเนินงาน โดยทำการตรวจวิเคราะห์วัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยวโดยวิธีทางห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2555 - 2559 จากจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 370 ตัวอย่าง ตรวจพบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกำหนด 71 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 19.2 โดยพบกรดเบนโซอิค ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 10.6 - 3,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยเฉพาะเส้นก๋วยจั๊บ เส้นใหญ่ และเส้นผัดไทชนิดแห้ง ส่วนวัตถุกันเสีย “กรดซอร์บิค” พบประมาณร้อยละ 3.1 แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 102 - 414 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลจากงานวิจัยในปี 2550 พบว่า จำนวนตัวอย่างที่ตรวจพบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกำหนดลดลงจาก ร้อยละ 36 เหลือเพียง ร้อยละ 19.2 และปริมาณวัตถุกันเสียที่ตรวจพบสูงสุดลดลงจาก 17,250 เหลือเพียง 3,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยที่ค่ามาตรฐานกำหนดให้พบได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

“กรดเบนโซอิค และ กรดซอร์บิค เป็นวัตถุกันเสียที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ยีสต์ และรา เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกขับออกทางปัสสาวะได้ โดยอ้างอิงข้อมูลของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตรและองค์การอนามัยโลก แห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้ประเมินและกำหนดค่าความปลอดภัย (ADI) แล้ว พบว่า มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์น้อยมาก และนอกจากนี้การบริโภคเส้นก๋วยเตี๋ยวจะต้องนำไปผ่านความร้อน ไม่ว่าจะเป็นการต้ม ลวก หรือ นึ่ง ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดไม่ทนความร้อนสามารถสลายตัวได้เมื่อถูกความร้อน” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวว่า สถานการณ์การตรวจพบวัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยวที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลดีขึ้น คือ พบวัตถุกันเสียเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดน้อยลงและปริมาณสูงสุดที่พบต่ำลงมาก ดังนั้น ผู้บริโภคไม่ควรตื่นตระหนก การเลือกซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวมาทำอาหารเพื่อบริโภค ให้เลือกที่มีฉลากที่ระบุสถานที่ผลิต วันที่ผลิต หรือวันหมดอายุ และไม่ควรรับประทานอาหารชนิดเดียวซ้ำๆ และบริโภคในปริมาณที่มาก สำหรับผู้ประกอบการร้านก๋วยเตี๋ยวควรเลือกซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีสถานที่ผลิตที่แน่นอน สามารถสอบย้อนกลับได้ สำหรับผู้ประกอบการโรงงานที่ผลิตต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดีและได้มาตรฐานตามที่หน่วยงานรัฐกำหนด อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ในปี 2560 กรมฯ อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารประเภทเส้นที่คนไทยนิยมบริโภคทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันและนำมาประเมินความเสี่ยง เพื่อรายงานผู้บริโภคต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น