xs
xsm
sm
md
lg

คณะวิทย์ มธ.โชว์ “เครื่องวัดความหวานแบบพกพา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะวิทย์ มธ. โชว์นวัตกรรม “เครื่องวัดความหวานแบบพกพา” ช่วยตรวจความเข้มข้นของน้ำตาล เกลือ และแอลกอฮอล์ได้ เล็งต่อยอดในระดับอุตสาหกรรมช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

ดร.ปกรณ์ ปรีชาบูรณะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ปัญหาพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย คือ ปัญหาการกินหวานมากเกินไป จากการศึกษาของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน พบว่า พฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลของคนไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์สูงมาก คือ มากกว่า 20 ช้อนชาต่อวัน (80 กรัม) เกินจากปริมาณน้ำตาลที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประชาชนบริโภคต่อวันถึง 3 เท่า โดยเฉพาะช่วงเทศกาลงานรื่นเริง มีอัตราการบริโภคของหวาน ผ่านอาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช็อกโกแลต 1 แท่งขนาด 35 กรัม มีค่าเฉลี่ยน้ำตาลสูงถึง 5 ช้อนชา (20 กรัม) ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ มากมาย ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2556 - 2558 พบผู้ป่วยชาวไทยที่เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานต่อประชากรหนึ่งแสนคน เป็นจำนวนสูงถึงร้อยละ 14.93 17.53 และ 17.83 ตามลำดับ

ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว ทำให้นักวิทยาศาสตร์คิดค้นและพัฒนาเครื่องมือวัดความหวาน ซึ่งเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย โดยในปัจจุบันประเทศไทยยังต้องอาศัยการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง ระบบซับซ้อน และมีขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ 2 มหาวิทยาลัย คือ มธ. และมหาวิทยาลัยทักษิณ ในการร่วมมือกันพัฒนา “เครื่องตรวจวัดความหวานแบบพกพา” โดยได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าเครื่องมือดังกล่าวจากต่างประเทศ และสามารถขยายผลสู่ประชาชนในระดับชุมชน ชาวบ้านและผู้บริโภคทั่วไปสามารถเข้าถึงนวัตกรรมดังกล่าวได้

“กลไกการทำงานของเครื่องตรวจวัดความหวานแบบพกพา เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 อุปกรณ์ คือ ชุดปริซึม (Prism) สมาร์ทโฟน (Smartphone) และคอมพิวเตอร์ โดยจะเริ่มขั้นตอนการทำงานได้ เพียงนำชุดอุปกรณ์ปริซึมที่รวมเลนส์อยู่ในชิ้นเดียวกัน ประกอบเข้าที่บริเวณหน้าจอของโทรศัพท์มือ พร้อมเปิดแอปพลิเคชันพิเศษที่ได้รับการพัฒนาให้ใช้แสงจากหน้าจอเป็นแหล่งกำเนิดแสง และจับภาพจากปริซึมดังกล่าว จากนั้นหยดสารละลายที่ต้องการทดสอบลงบนปริซึม โดยกล้องบนสมาร์ทโฟนจะบันทึกภาพแสงสะท้อนที่ได้ เพื่อส่งไปประมวลและแสดงผลบนจอคอมพิวเตอร์ในทันที โดยผลงานดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถคำนวณ และแสดงผลบนหน้าจอโทรศัพท์ได้แบบเรียลไทม์ โดยไม่ต้องเชื่อมต่อผ่านคอมพิวเตอร์เพื่อให้สะดวกแก่การใช้งานมากขึ้น” ดร.ปกรณ์ กล่าว

ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า เครื่องตรวจวัดความหวานแบบพกพา เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างฟิสิกส์และคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน เครื่องดังกล่าวสามารถบอกระดับความเข้มข้นของน้ำตาล ความเข้มข้นของเกลือ และความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ได้ โดยสามารถแสดงผลเป็นตัวเลขและกราฟบอกระดับความเข้มข้นของสาร และบอกค่าความหวานระหว่าง 0 - 20 บริกซ์ได้ ทำให้นวัตกรรมดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมากกับอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร การแพทย์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ล่าสุด เครื่องตรวจวัดความหวานแบบพกพาดังกล่าว ได้รับรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์ คิดค้น ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2560 โดยผลงานดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนดำเนินการจดทะเบียนสิทธิบัตร และทำการพัฒนารูปแบบให้สวยงาม และใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อสามารถประยุกต์ต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น