กรมสุขภาพจิต ห่วงสภาพจิตใจ “คู่กรณี” วิศวกรยิงวัยรุ่นดับ ต้องเยียวยาทั้ง 2 ครอบครัว ชี้ คอมเมนต์จากโซเชียลส่งผลกระทบทั้งสองฝ่าย วอนอย่าตีตรา ให้เป็นการพิจารณาของศาล แนะวิธีตั้งสติ ยุติความรุนแรงบนท้องถนน
จากกรณีข่าวที่วิศวกรชายวัย 50 ปี ยิงป้องกันตัว ขณะถูกกลุ่มวัยรุ่นรุมล้อมรถยนต์ ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งภายในรถยนต์มีทั้งภรรยา ลูก และมารดา โดยสารมาด้วยนั้น จนเป็นเหตุให้มีวัยรุ่นเสียชีวิต 1 ราย
วันนี้ (9 ก.พ.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ว่า พฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์ฉุนเฉียวที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการจัดการอารมณ์ตนเองในภาวะกดดันไม่ได้ เวลาเราถูกปลุกเร้า หรือถูกกระตุ้นอารมณ์ด้วยการกระทำของผู้อื่น อารมณ์โกรธจะพุ่งสูงขึ้น หากมีสติ สามารถควบคุมอารมณ์ไม่ให้หลุดได้ รวมทั้งรู้ถึงผลเสียที่จะเกิดตามมา อารมณ์ก็จะลดลง จนคลี่คลายเองในที่สุด เมื่อเกิดเหตุกระทบกระทั่งบนท้องถนน จึงอย่ายึดติดว่า มันทำเราก่อน ยอมไม่ได้ ขอให้ลองปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า เราจะยอมให้ตัวเองไปเสี่ยงกับเรื่องแบบนี้ทำไม
“เบื้องต้นให้รู้สัญญาณเตือนอารมณ์โกรธของตนเองให้ได้ก่อน เช่น เกิดความคิดเกรี้ยวกราด เจ้าคิดเจ้าแค้น เกร็งกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ หรือหัวใจเต้นเร็วขึ้น หากพบว่า เริ่มโกรธหรือโมโหให้ใช้เวลาสงบสติอารมณ์ อาจขับรถไปจอดข้างทาง ขับออกจากทางหลัก หรือเบนออกไปบนไหล่ทาง ซึ่งต้องมั่นใจว่าปลอดภัย หรือหาที่จอดพักรถ ใช้เวลารวบรวมสติและสงบใจก่อนกลับไปบนถนน โดยทำสมาธิ หรือสูดลมหายใจลึกๆ แล้วหายใจออกช้าๆ หรือใช้วิธีการนับเลข หรือวิธีการอื่นๆ ที่สามารถเรียกสติกลับคืนมาได้ ตลอดจนหยุดหรือปรับเปลี่ยนความคิดที่จะเอาคืน หลีกเลี่ยงการแสดงท่าทางที่ยั่วโมโห เก็บอารมณ์ความรู้สึกเอาไว้ระหว่างที่คนอื่นกำลังโมโห หยุดการโต้ตอบ ถอยออกจากคนที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้แล้ว แต่หากรู้สึกไม่ปลอดภัย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอความช่วยเหลือ ทั้งนี้ หากฝึกบ่อยๆ อารมณ์โกรธจะสั้นลง เราจะควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น สามารถขอรับบริการปรึกษา ได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเมื่อดูสภาพจิตใจแล้วถือว่าวิกฤตย่ำแย่ทั้ง 2 ฝ่าย จำเป็นต้องมีทีมสุขภาพจิตเข้าไปเยียวยา เพราะเมื่อดูจากสถานการณ์แล้วจะเห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายเองน่าจะไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะทำให้เรื่องร้ายแรงถึงขั้นมีคนตาย แต่ผลกลับลงเอยด้วยการมีคนตายจริงๆ ซึ่งคนที่สูญเสียลูก เสียเพื่อนก็จะมีความรู้สึกคับแค้น กดดัน หรือไม่ได้รับความยุติธรรม ส่วนตัววิศวกรที่เป็นคนลงมือเองนั้นต้องว้าวุ่น เพราะจะเห็นว่าในรถมีผู้โดยสารร่วมทางมาด้วย ซึ่งมีทั้งเด็ก ทั้งผู้หญิง ดังนั้น ทุกฝ่ายต่างได้รับผลกระทบ คนที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้ง 2 ฝ่ายต้องมีคนดูแลไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นความทรงจำ และรู้สึกติดค้างอยู่ในใจตลอด
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า เรื่องนี้ในโลกโซเชียลมีเดีย หรือคนนอกที่กำลังพูดถึงเหตุการณ์นี้ ย่อมมีผลกระทบกับทั้ง 2 ฝ่ายแน่นอน ส่วนตัวไม่อยากให้มองแต่ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เพราะศาลจะพิจารณาไปตามเหตุผล พยานหลักฐาน ตามกระบวนการของกฎหมายอยู่แล้ว คนนอกอย่าไปตีตรา เพราะในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย ต่างมีสิ่งที่ถูก และสิ่งที่ผิดอยู่ด้วย แต่อยากให้สังคมได้เรียนรู้กับเหตุการณ์นี้มากกว่า มองในมุมว่าหากเกิดกับตัวเองจะทำอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไรให้สมเหตุสมผล อันดับแรกเลย คือ ตั้งสติ เจรจา สื่อสารด้วยถ้อยคำที่ดีๆ ผิดก็ขอโทษ อย่าใช้อารมณ์ ถ้าไม่ได้ผลควรมองหาคนช่วย เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ถ้าตัวเองถูกอีกคนกระทำความรุนแรงใส่จะแก้ปัญหาอย่างไร วัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่ค่อนข้างอารมณ์ร้อนก็ต้องเรียนรู้ที่จะระงับอารมณ์