xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 4 กลยุทธ์สื่อสารการตลาด “น้ำเมา” ปี 2017 ที่ต้องระวัง เล็งออก กม.คุมสถานที่-วันห้ามขายเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอสมาน” เผย 9 ปี กม. คุมน้ำเมา พบทำผิดด้านโฆษณาจัดโปรโมชันมากสุด เน้นเจาะกลุ่มเยาวชน จ่อเพิ่มกฎหมาย คุมสถานที่ - วันห้ามขาย นักวิชาการคาดปี 60 ธุรกิจน้ำเมารุกสื่อสารการตลาดมากขึ้น ใช้วิธีการตลาดใส่หน้ากากผ่านสินค้าอื่น ดึงคนผ่านออนไลน์มากขึ้น

วันนี้ (9 ก.พ.) ในเวทีเสวนา “9 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับสังคมไทย” จัดโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ร่วมกับ เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ (Alcohol Watch) เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 14 ก.พ. นี้ จะครบรอบ 9 ปี ของการมี พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งภาพรวมหลังการบังคับใช้กฎหมายถือว่าดีขึ้น อัตราการดื่มลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับอดีตที่สถิติพุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ จากการติดตามเฝ้าระวังการทำผิดตั้งแต่มี พ.ร.บ. พบว่า มีสูงกว่า 15,483 ครั้ง มีการกล่าวโทษ 1,471 ครั้ง โดยการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณจูงใจให้ดื่ม มีการฝ่าฝืนมากที่สุดร้อยละ 66 รองลงมา คือ ส่งเสริมการขายลดแลกแจกแถม ร้อยละ 13

“อุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมาย คือ 1. ทัศนคติของสังคมไทยยังคงเห็นการดื่มเป็นเรื่องปกติ 2. สื่อโฆษณาใช้กลยุทธ์ทางการตลาดมุ่งตรงต่อทัศนคติของเยาวชน 3. ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อย ขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย ไม่ให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่ และตกเป็นเครื่องมือของผู้ประกอบการรายใหญ่ 4. การพัฒนารูปแบบการโฆษณาก่อให้เกิดปัญหาในด้านการตีความกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติเมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบ และ 5. หน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่ให้ความสำคัญในการดำเนินงาน ทั้งนี้ ทิศทางการออกกฎหมายเพิ่มเพื่อให้การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีประสิทธิภาพ คือ เพิ่มวันห้ามจำหน่าย เพิ่มสถานที่ห้ามดื่มห้ามขาย รวมถึงลักษณะการขายที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เป็นต้น” นพ.สมาน กล่าว

นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เรื่องที่ถูกร้องเรียนว่ามีการกระทำความผิดมากที่สุดมาก คือ การจำหน่ายการบริโภคและส่งเสริมการขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสถานที่ราชการ ในรูปแบบกิจกรรมทางการตลาดแบบลานเบียร์ งานแสดงดนตรี การจัดงานสังสรรค์ของหน่วยราชการ นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า ธุรกิจสุรารุกจัดกิจกรรมทางการตลาดขนาดใหญ่แบบครบวงจร ตั้งแต่ออกแคมเปญ งานอีเวนต์ และส่งเสริมการขายในร้านอาหารรายย่อย ผูกสัมพันธ์กลไกราชการ กลุ่มทุน และการเมืองท้องถิ่น ในการจัดงานมักอ้างมอบรายได้เพื่อสาธารณะประโยชน์ ในโอกาส ครบรอบ 9 ปี พ.ร.บ. อยากเรียกร้องให้ธุรกิจเคารพกฎหมายมีธรรมภิบาล ไม่เอาเปรียบสังคม มอมเมาเด็กเยาวชน

ผศ.ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวว่า จากการติดตามเฝ้าระวังการสื่อสารการตลาดของกลุ่มธุรกิจน้ำเมาปี 2559 เรียกได้ว่า “น้ำเมายังครองเมือง” ด้วยวิธีการ ดังนี้ 1.ใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง กระตุ้นให้เกิดความต้องการอยากลองดื่ม อยากซื้อ อยากอวด อยากบอกต่อ ข้อความที่ใช้กระตุ้นมักเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการขายโดยตรง 2. วิธีการจัดกิจกรรมพิเศษ ทั้งจัดเองหรือเป็นสปอนเซอร์ และยังคงเน้นที่ดนตรี กีฬา โดยเฉพาะ กิจกรรม CSR ที่ใช้การบอกต่อหรือสร้างเรื่องราวเพื่อเป็นข่าว และเน้นไปที่กลุ่มเยาวชน โดยหวังผลที่เกิดขึ้น เช่น ผลจากการดื่มว่าสามารถสร้างเพื่อน สร้างมิตรภาพ สร้างวันและเวลาที่ดีขึ้นมาได้ และ 3. การสื่อสารการตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย คือ วัยรุ่น และนักดื่มหน้าใหม่ จึงมักจะใช้กิจกรรมสร้างเรื่องสำหรับสื่อสารออนไลน์ เช่น การออกแคมเปญใหม่ การออกรสชาติใหม่ แล้วดึงผู้บริโภคเข้าสู่โลกออนไลน์ หรือจุดจำหน่ายทั้งร้านค้าและสถานบันเทิง

“เชื่อว่า เทรนด์การสื่อสารการตลาดในปี 2560 คือ 1. การตลาดน้ำเมาใส่หน้ากาก คือสื่อสารการตลาดแอบแฝงผ่านผลิตภัณฑ์อื่น เช่น น้ำเปล่า หรือผ่านร้านค้า หรือพันธมิตรอื่นๆ ตลอดจนใช้การทำ CSR บังหน้าโดยมุ่งที่กลุ่มเยาวชนเป็นหลัก เพื่อขยายฐานให้ได้ตามส่วนแบ่งการตลาดและผลกำไร 2 .ลากเรื่องเข้าออนไลน์ คือ ใช้ช่องทางการสื่อสารออนไลน์เป็นหลักในการสื่อสาร เพื่อให้สามารถสื่อสารได้ทุกวันและทุกที่ ทั้งการสื่อสารผ่าน official fanpage และใช้วิธีการแฝงเข้าไปในโลกออนไลน์แบบ ‘Real-world tie-in’ เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่เชิญชวนและกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภค 3. ใช้ทุกช่องทางสื่อสาร ในลักษณะของ multi-platform และ 4. สร้างความผูกพันภักดี ผ่านกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ ทำให้ได้ข้อมูลของผู้บริโภคแบบเจาะลึก ที่จะสามารถทำการตลาดเข้าถึงตัวผู้บริโภคได้อย่างเจาะจงใช้เวลารวดเร็ว ส่งต่อและบอกต่อผ่านการติดแท็ก หรือ mention ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายมากกว่านี้” ผศ.ดร.นิษฐา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น