xs
xsm
sm
md
lg

“ท้องวัยรุ่น” พุ่งสูง สธ.แนะพ่อแม่คุยเรื่องเพศกับลูก ป้องกันท้องวัยเรียน ติดโรคจากเซ็กซ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เผยประเทศไทย “ท้องวัยรุ่น” พุ่งกว่าแสนรายต่อปี ชวนพ่อแม่พูดคุยเรื่องเพศกับลูก ป้องกันการท้อง ติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ยันไม่ใช่การสนับสนุนการมีเซ็กซ์ แต่ต้องมีความรู้ที่ถูกต้องเพื่อป้องกันตัว

วันนี้ (8 ก.พ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศครั้งที่ 2 หัวข้อ “เซ็กซ์เปิดในวัยรุ่น : เปิดพื้นที่เพิ่มความฉลาดรู้เรื่องเพศ” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงมหาดไทย ว่า ประเทศไทยขณะนี้พบปัญหาการเกิดน้อยด้อยคุณภาพ แต่ปัญหาแม่วัยรุ่นมีจำนวนมากขึ้น โดยข้อมูลจากกรมอนามัย ปี 2558 พบว่า หญิงคลอดบุตรวัย 10 - 19 ปี มีจำนวน 104,289 คน หรือเฉลี่ยวันละ 286 คน คิดเป็นอัตราสูงถึงร้อยละ 15 ของการคลอดทั้งหมด หีอเท่ากับวัยรุ่นหญิงไทยทุก 1,000 คน จะมีคนคลอดลูก 43 คน นอกจากนี้ ยังพบปัญหาและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การทอดทิ้งทารก และคุณภาพของประชากรที่เกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น

“การทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องในวัยรุ่น ไม่สามารถทำสำเร็จได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ ไม่เพียงแค่ 5 กระทรวงหลักเท่านั้น ยังต้องมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอีก เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงวัฒนธรรม รวมทั้งต้องดึงภาคีเครือข่ายและภาคประชาสังคมมาร่วมกันทำงาน ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าภายในปี 2569 จะต้องลดแม่วัยรุ่นให้ได้ร้อยละ 50” รมว.สธ. กล่าว

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 แต่ยังไม่ได้หมายความว่า สำเร็จแล้ว ความสำเร็จคือ ต้องทำงานผ่านกฎหมายนี้ให้ได้ คือ นำมาใช้จริง โดยกรมอนามัย ถือเป็นฝ่ายเลขานุการในการเดินหน้า ประสานแต่ละหน่วยงานทำงานร่วมกัน โดยหลักคือ ต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามากที่สุด สิ่งสำคัญ ต้องสร้างความเข้าใจ เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นว่า เขาต้องการอะไร และจะแก้ปัญหาอย่างไร แน่นอนว่า ต้องทำให้ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ทั้งหลายตระหนักให้ได้ว่า การเปิดพื้นที่ การรับฟังเรื่องเพศ เป็นสิ่งที่ไม่ต้องอายอีกต่อไป ไม่ใช่สนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์ แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากให้พวกเขาได้รับรู้ว่า การป้องกันเรื่องเพศควรทำอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร ทั้งไม่ต้องตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ในวัยเรียน และไม่เสี่ยงติดโรคทางเพศสัมพันธ์อีก เพราะยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียล หากเราไม่ให้ความรู้พวกเขา พวกเขาก็สามารถไปหาได้ทางอินเทอร์เน็ตอยู่ดี ทั้งนี้ ขอให้กรมอนามัยติดตามการทำงานของแต่ละฝ่าย และขับเคลื่อนให้เกิดผล โดยปีนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะเป็นก้าวแรกของการทำงาน ต้องวางรากฐานให้ดี และควรมีการติดตามการทำงานทุก 6 เดือน เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่ สสส. ให้ความสำคัญ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และลงลึกทางปฏิบัติในระดับพื้นที่ จำนวน 20 จังหวัดนำร่อง ช่วยให้ได้บทเรียนและชุดความรู้ที่นำมาใช้สนับสนุนการพัฒนาร่างยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหารการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ถือเป็นประตูสำคัญสู่การทำงานร่วมกันในระดับนโยบาย และการปฏิบัติเชิงพื้นที่ เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน สถานบริการสุขภาพ ระบบสวัสดิการครอบครัว ท้องถิ่น องค์การจ้างงาน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีโอกาสบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ





กำลังโหลดความคิดเห็น