xs
xsm
sm
md
lg

จัดหลักสูตร “ช่วยชีวิต-ใช้เครื่อง AED” หวังเพิ่มทักษะ “ครู-นร.-นศ.” เพิ่มโอกาสรอดก่อนถึง รพ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สพฉ. จับมือ ศธ. จัดหลักสูตร “ปฐมพยาบาล - ฟื้นคืนชีพ - การใช้เครื่อง AED” ในสถานศึกษา หวังครู เจ้าหน้าที่ นักเรียน นักศึกษา มีทักษะการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สามารถใช้งานจริง เพิ่มโอกาสผู้ป่วยรอดชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล

วันนี้ (7 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พร้อมด้วย นายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการปฐมพยาบาล การช่วยฟื้นคืนชีพ การใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED ) กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินในสถานศึกษา

นพ.อนุชา กล่าวว่า สถิติ “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” ในแต่ละปีประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คน เท่ากับว่า ในทุกๆ 1 ชั่วโมงมีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 6 คน และเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยทุกเพศ ทุกวัย แต่หากผู้ป่วย ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และถูกวิธีตามหลักห่วงโซ่การรอดชีวิต คือ การช่วยเหลือด้วยการ CPR ประกอบกับการใช้เครื่องฟื้นคืนชีพหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED ) ภายในระยะเวลา 4 นาที หลังจากหัวใจหยุดเต้น ก็จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาลได้ จึงร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการปฐมพยาบาล การช่วยฟื้นคืนชีพ ด้วยการใช้เครื่อง AED กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินในสถานศึกษา

นพ.อนุชา กล่าวว่า ความร่วมมือจะเน้นการเรียนให้ได้ทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้จริง จึงมีการบูรณาการความรู้ด้านวิชาการ การวิจัย การฝึกอบรม รวมถึงการพัฒนาหลักสูตร การเรียน การสอน เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรทางการศึกษา ครูผู้สอนในสถานศึกษาทุกระดับมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการปฐมพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และนำไปจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการปฐมพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างถูกต้องทั้งที่บ้าน สถานศึกษา และการเดินทาง

“ทุกหน่วยงานจะร่วมกันจัดทำหลักสูตรการดำเนินงานด้านการปฐมพยาบาล การช่วยฟื้นคืนชีพ การใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือ AED โดย สพฉ. จะให้การสนับสนุนทางวิชาการ พร้อมมอบเครื่อง AED และวิทยากรในการให้ความรู้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร ขณะที่การดำเนินการจัดรายวิชาพื้นฐานและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนนั้น หน่วยงานด้าน ศธ. จะเป็นผู้ดำเนินการ” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า การเจ็บป่วยฉุกเฉินส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต ไม่ว่าเป็นการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ หรือการกำเริบเฉียบพลันของโรคต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทุกเพศและทุกวัย การรักษาพยาบาลฉุกเฉินจะไม่เกิดผลดีหากมีความล่าช้า และการปฏิบัติการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยฉุกเฉินจะเสียโอกาสอยู่รอดในทุกนาทีที่ผ่านไป ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า การนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินไปโรงพยาบาลอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดผลเสียแก่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างมาก ดังนั้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดความรุนแรง ความพิการ และความตายของผู้ป่วยได้ ศธ. เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะพัฒนาเยาวชน นักเรียน นักศึกษา เกิดทักษะด้านการปฐมพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการกับ สพฉ. ซึ่งการลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งจะยังมีการประสานความร่วมมือทางวิชาการ การสร้างนวัตกรรม ในการพัฒนาเรื่องการปฐมพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินในสถานศึกษาให้ขยายผลออกไปในวงกว้างออกไป และพัฒนาเยาวชนให้เกิดทักษะการปฐมพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อต่อยอดให้กับเยาวชนนำไปสร้างประโยชน์ช่วยเหลือสังคมต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น