xs
xsm
sm
md
lg

เด็กปกติกิน “โกรว์ธฮอร์โมน” ไม่ช่วยเพิ่มความสูง เตือนสาวร่างเล็ก “ผ่าตัดยืดกระดูก” ได้ไม่คุ้มเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์เตือนให้ลูกกิน “โกรว์ธฮอร์โมน” ไม่ช่วยเพิ่มความสูง ก่อผลเสียทำให้ร่างกายหยุดผลิตฮอร์โมนเอง เผย ผ่าตัดยืดกระดูกเพิ่มความสูงได้ แต่ไม่ควรทำ เหตุต้องทำให้กระดูกหัก ใช้เวลายืดกระดูกเป็นปี แต่เส้นเลือด - เส้นเอ็น - เส้นประสาทไม่ยืดตาม แนะออกกำลังกายลงน้ำหนักพอประมาณ อย่ามีแรงกระแทกมากเกินไปทำเด็กเตี้ยแทน

นพ.อี๊ด ลอประยูร ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ (BASEM) โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “ทำอย่างไรให้เด็กไทยสูงสมส่วน แข็งแรง IQ EQ ดี" เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การที่คนเราสูงขึ้นเป็นเพราะกระดูกมีการเจริญเติบโต โดยกระดูกจะแบ่งเป็น กระดูกแข็ง และกระดูกอ่อน ซึ่งส่วนที่เจริญเติบโต คือ “กระดูกอ่อน” ที่อยู่ตรงปลายทั้งสองด้านของท่อนกระดูก โดยกระดูกอ่อนนี้จะมีมากในวัยเด็ก เมื่อกระดูกอ่อนถูกกระตุ้นให้เจริญเติบโต เด็กจึงเติบโต และสูงขึ้น ต่างจากผู้ใหญ่ที่กระดูกจะกลายเป็นกระดูกแข็งไปทั้งหมดแล้ว จึงไม่สามารถสูงขึ้นได้อีก ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก คือ 1. โกรว์ธฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งถูกกระตุ้นโดยต่อมใต้สมอง แต่การจะหลั่งมากหรือน้อยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ อาหารการกิน และการนอนหลับพักผ่อนด้วย และ 2. การออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก ถือเป็นสิ่งเร้าภายนอก ที่กระตุ้นการรับรู้ของร่างกายว่าจำเป็นต้องมีกระดูกที่แข็งแรงเพื่อรองรับการออกกำลังกาย สมองจึงสั่งการให้กระดูกต้องแข็งแรงขึ้น กล้ามเนื้อใหญ่ขึ้น และเส้นเอ็นแข็งแรงขึ้น จึงทำให้เด็กเติบโตสูงขึ้น

“ปัญหาหนึ่งที่พบ คือ มีหลายคนเชื่อว่า การซื้อฮอร์โมนมาให้ลูกกินจะช่วยทำให้ลูกสูงขึ้นมาได้ ซึ่งจริงๆ แล้วการเสริมด้วยฮอร์โมนจะจำเป็นในเด็กที่ขาดโกรว์ธฮอร์โมน แต่ไม่จำเป็นสำหรับเด็กที่มีการหลั่งของโกรว์ธฮอร์โมนเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งมีการศึกษาชัดเจนว่าการให้เด็กที่มีการหลั่งของโกรว์ธฮอร์โมนปกติกินฮอร์โมนเพิ่ม 2 - 3 เท่า ก็ไม่ช่วยให้มีความสูงเพิ่มขึ้น เพราะร่างกายมีอยู่แล้ว ก็เหมือนการกินแคลเซียมเสริมกระดูก ต่อให้กินมากเท่าไร ร่างกายก็ดูดซึมและนำไปใช้เพียง 300 มิลลิกรัมเท่านั้น ที่สำคัญ การรับฮอร์โมนทั้งที่ร่างกายก็หลั่งตามปกติจะมีผลเสียและอันตรายมากกว่า เพราะร่างกายจะรับรู้ว่ามีปริมาณฮอร์โมนมากเกินพอแล้ว ดังนั้น ต่อมใต้สมองที่ควบคุมการหลั่งของโกรว์ธฮอร์โมนก็จะหยุดทำงาน” นพ.อี๊ด กล่าว

นพ.อี๊ด กล่าวว่า สำหรับการผ่าตัดกระดูกเพื่อเพิ่มความสูงทางการแพทย์สามารถทำได้หรือไม่ จริงๆ สามารถทำได้ คือ ทำให้กระดูกหักโดยการตัดกระดูกออกจากกัน เหลือเพียงเยื่อหุ้มกระดูก แล้วค่อยๆ ยืดกระดูกขึ้นวันละนิดก็จะช่วยให้กระดูกค่อยๆ ยาวขึ้นมาได้ แต่วิธีนี้จะต้องใส่เหล็กดามไว้ที่ขา และใช้เวลาในการทำเป็นปี ก็จะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ปกติแล้วจะใช้วิธีนี้ในการช่วยเหลือกรณีเกิดการบาดเจ็บส่งผลให้ขาทั้งสองข้างมีความยาวไม่เท่ากันจนเดินไม่ได้ แต่จะไม่ทำเพื่อการเสริมความงาม เพราะเป็นวิธีการที่ต้องเจ็บตัว มีความเสี่ยง และไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ ที่สำคัญแม้กระดูกจะถูกยืดเพื่อเพิ่มความสูงก็จริง แต่เส้นเลือด เส้นเอ็น และเส้นประสาท ไม่ได้ถูกยืดให้ยาวตามไปด้วย ตรงนี้จะเป็นปัญหามากกว่า และอาจดูไม่สมส่วนได้ เพราะขายาวขึ้นแต่ไม่สัมพันธ์กับความยาวของแขน เป็นต้น ดังนั้น การออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักปานกลาง กินอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กสูงขึ้น แต่อย่าออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกมากจนเกินไป เพราะแทนที่จะสูงแต่เกิดแรงกระแทกมากจนทำให้เตี้ยแทนได้ เหมือนกรณีนักกีฬายกน้ำหนัก หรือนักกีฬายิมนาสติกที่ฝึกตั้งแต่เด็ก จะพบว่าส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสูงนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น