xs
xsm
sm
md
lg

ชนะเด็กดื้อด้วย...... / ดร.แพง ชินพงศ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เด็กดื้อ” หมายถึง เด็กที่ไม่เชื่อฟัง ฝ่าฝืนต่อกฎเกณฑ์และคำสั่ง ซึ่งจะแสดงออกด้วยการต่อต้านและอาละวาด ซึ่งในบางรายที่เป็นเด็กดื้อขนาดหนัก มักจะมีพฤติกรรมขวางโลกก้าวร้าวจนถึงขั้นทำลายข้าวของหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กดื้อ

1. จากตัวเด็กเอง เด็กที่ดื้อมากจนผิดปกติมักจะเป็นเด็กที่ปัญหาทางสุขภาพจิตร่วมด้วย เช่น เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งเด็กในกลุ่มนี้จะซนมาก ยุกยิกอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถอยู่นิ่งได้ จึงทำให้เขามีพฤติกรรมเป็นเด็กดื้อไปโดยไม่รู้ตัวเพราะทำตามคำสั่งและกฎเกณฑ์ได้ยากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

2. จากครอบครัว วิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญมากในการกระตุ้นให้ลูกเป็นเด็กที่ดื้อหรือไม่ ซึ่งเป็นได้ในสองกรณี

- กรณีที่หนึ่ง ได้แก่ พ่อแม่ที่ตามใจลูกมากเกินไป ไม่เคยดุว่ากล่าวตักเตือนเมื่อลูกทำผิด ทำให้เด็กติดนิสัยเป็นคนที่ชอบทำอะไรตามใจตนเอง จึงทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่มีนิสัยดื้อรั้นไม่สามารถอยู่ในกฎเกณฑ์ได้

- กรณีสอง ได้แก่ พ่อแม่ที่ทอดทิ้งไม่ดูแลเอาใจใส่ลูก จึงทำให้ลูกขาดความรักความอบอุ่น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวดื้อดึงเพื่อให้พ่อแม่หันมาสนใจในตัวเขามากขึ้นนั่นเอง

ทำอย่างไรเมื่อลูกดื้อ

1. ให้ความรักความอบอุ่นกับลูก ดุว่าให้น้อยลง ชมเชยให้มากขึ้นเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดื้อน้อยลง

2. ถ้าลูกแสดงพฤติกรรมดื้อเพียงเพื่อต้องการเรียกร้องความสนใจ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องดุลูกแต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องแสดงท่าทีสนใจหรือเข้าไปปลอบโยน เพราะการกระทำเช่นนั้นจะทำให้เด็กรู้ตัวว่าดื้อไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรซึ่งจะส่งผลให้เด็กเลิกแสดงพฤติกรรมดื้อดึงไม่น่ารักไปเอง

3. ขณะที่ลูกดื้ออย่าทำร้ายร่างกายลูกและอย่าลงโทษลูกเกินกว่าเหตุ เพราะนั่นเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมความก้าวร้าวรุนแรงให้กับเด็ก อีกทั้งจะทำให้เด็กมีนิสัยที่ดื้อด้านมากยิ่งขึ้นไปอีก

4. ทำโทษเด็กดื้อได้ โดยวิธี Time out ซึ่งเป็นวิธีการลงโทษที่ทำได้กับเด็กตั้งแต่อายุ 2 ขวบขึ้นไป เช่น ถ้าลูกดื้ออาละวาด ลงไปนอนดิ้นกับพื้น ทำลายของ ทำร้ายคนอื่น ก็อาจใช้วิธี Time out คือ การให้เด็กเข้ามุมสงบโดยให้เด็กยืนหันหน้าเข้ามุมห้อง ซึ่งเมื่อเด็กมีอารมณ์สงบลงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็มาอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการเป็นเด็กดื้อนั้นไม่ดีอย่างไร

5. ชมเชย ถ้าเด็กมีพฤติกรรมที่ดื้อน้อยลง คุณพ่อคุณแม่ควรกล่าวคำชม เพื่อยืนยันให้ลูกรู้ว่า สิ่งที่เขาทำนั้นดีและถูกต้องแล้ว เพื่อเป็นกำลังใจให้เขาปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเด็กน่ารักที่ไม่ดื้อในที่สุด

จากงานวิจัยพบว่าเด็กซึ่งมีนิสัยดื้อรั้นที่พ่อแม่ไม่ได้ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่ยังเล็ก มักจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น และมักจะมีปัญหาในการชอบฝ่าฝืนกฎเกณฑ์หรือทำผิดกฎหมายอยู่บ่อยๆ

ดังนั้น เมื่อลูกเป็นเด็กดื้อในวันนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกอย่างจริงจังด้วยความรักและความเข้าใจลูกอยู่เสมอ ซึ่งถ้าเป็นดังนี้ผู้เขียนเชื่อว่าเด็กดื้อตัวน้อยๆ ของคุณพ่อคุณแม่จะกลายเป็นเด็กน่ารักที่คุณพ่อคุณแม่ชื่นใจอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น