xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยพบ “คนอาเซียน” เจอเชื้ออิโคไลดื้อยามากสุดในโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


WHO วิจัยพบคนในภูมิภาคอาเซียน มีภาวะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียอิโคไลดื้อยาสูงสุดในโลกถึง 70% ด้านยุโรปเจอสถานการณ์ยารักษาเริ่มใช้ไม่ได้ผล

วันนี้ (3 ก.พ.) นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล ศาสตราจารย์สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวในเวทีประชุมนานาชาติเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีโอฮุน) ครั้งที่ 1 ภายในงานประชุมนานาชาติเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2560 ว่า องค์การอนามัยโลกทำการศึกษา เรื่อง การป้องกันและควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพ พบว่า ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีภาวะปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียอิโคไลดื้อยาในร่างกายสูงที่สุดในโลกถึง 70% ของกลุ่มประชากรที่ได้ทำการศึกษา เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ เชื้อแบคทีเรียอิโคไล มีอยู่แล้วในร่างกายมนุษยและสัตว์ จะพบได้ในลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการท้องเสียบ่อย อุจจาระเหลว หรือเป็นน้ำ แต่จะมีอาการไม่รุนแรง เพราะคนเรามีภูมิต้านทานโรคอยู่บ้าง และสามารถพบเชื้อดังกล่าวได้ในอุจจาระอยู่แล้ว

“การศึกษาพบว่าปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสะท้อนปัญหาการปนเปื้อนในดิน น้ำ และ อากาศ และกำลังส่งผลกระทบกับผลิตผลเกษตร การเกษตร และปศุสัตว์ และก่อให้เกิดปัญหาภาวะสุขภาพของทั้งคน สัตว์ และ สิ่งแวดล้อม ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาร่วมกันโดยเฉพาะการเข้าถึงยาปฏิชีวนะง่าย และใช้ไม่สมเหตุผล อย่างกรณีประเทศไทยมีการใช้ยา “โคลิสติน” ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดรุนแรงในฟาร์มสุกรโดยไม่ได้ควบคุมสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา” นพ.วิษณุ กล่าว

นพ.วิษณุ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียอิโคไล และ ซาโมเนลลา ในทวีปยุโรป ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและยังพบผู้ติดเชื้อหลายพันราย เกิดความกังวลในวงการแพทย์ เนื่องจากยังไม่สามารถหาข้อสรุปต้นตอของเชื้อดังกล่าว และยาปฏชิวีนะตัวสำคัญอย่างไซโปรฟลอกซาซิน ที่แพทย์สั่งใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียเริ่มใช้ไม่ได้ผล

มาร์ก ซิมเมอร์แมน ผู้อำนวยการบริหารของมูลนิธิซีโอฮุน กล่าวว่า เยาวชนคนรุ่นใหมที่กำลังศึกษาและทำงานในภาคสาธารณสุขทั้งคนและสัตว์ ควรได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาควิชาการและหน่วยงานทั้งภาครฐัและเอกชนเพื่อพัฒนาฝึกฝนทักษะให้ เข้าใจแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันเพื่อลดภาวะเชื้อดื้อยา และลดการระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เพื่อสร้างความปลอดภัยของห่วงโซ่อาหารอย่างยั่งยืนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น