นักโภชนาการแจงเหตุ “เด็กอินเดีย” กิน “ลิ้นจี่” ตาย ชี้ผลดิบมีสารไฮโพไกลซินสูง ยับยั้งการสร้างกลูโคสไปเลี้ยงสมอง ขณะที่เด็กมีภาวะขาดสารอาหาร ทำให้เสียชีวิตได้ เตือนเมืองไทยอย่าตระหนก เหตุผลสุกมีสารน้อยมาก และคนไทยไม่ขาดสารอาหาร ไม่เกี่ยวข้องการกินตอนท้องว่าง
จากกรณีวารสารวิชาการทางการแพทย์ The Lancet ตีพิมพ์งานวิจัยโดยระบุว่า เด็กในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เสียชีวิตจากการได้รับสารพิษ “ไฮโพไกลซิน (Hypoglycin)” ในผลลิ้นจี่ โดยสารพิษจะไปต่อต้านกระบวนการสร้างกลูโคสในร่างกาย ส่งผลต่อเด็กเหล่านี้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งเด็กที่เสียชีวิตส่วนมากครอบครัวมีฐานะยากจน และไม่ได้รับประทานอาหารเย็น
วันนี้ (3 ก.พ.) รศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สารไฮโพไกลซิน เอ จะมีมากในผลลิ้นจี่ดิบประมาณหลักหมื่น ppm แต่ปริมาณของสารดังกล่าวจะลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อผลเจริญเติบโตเต็มที่หรือผลสุก โดยเมื่อผลลิ้นจี่สุกจะมีปริมาณสารไฮโพไกลซินอยู่ประมาณ 0.1 ppm เท่านั้น และจะอยู่ในเม็ดลิ้นจี่มากกว่าเนื้อ ซึ่งในประเทศแถบแอฟริกา จะมีผลไม้ชื่อแอกคี (ackee) ซึ่งมีสารไฮโพไกลซินสูงเช่นเดียวกับลิ้นจี่ดิบ สำหรับกรณีเด็กอินเดียกินลิ้นจี่แล้วเสียชีวิตไม่สามารถระบุได้ว่า ผลลิ้นจี่ที่ร่วงลงพื้นแล้วเด็กเก็บมากิน เป็นผลสุกหรือดิบ ที่สำคัญคือ เด็กอยู่ในภาวะขาดสารอาหารอยู่แล้ว เพราะไม่มีอะไรกินเลย มื้อเย็นก็ไม่ได้กินอะไร จึงมีกลูโคสในร่างกายน้อย เมื่อได้รับสารดังกล่าวที่มีฤทธิ์เข้าไปยับยั้งการสร้างกลูโคสในร่างกาย ทำให้คนที่มีกลูโคสน้อยอยู่แล้วยิ่งไม่มีการสร้างกลูโคสไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ กระหายน้ำ เกิดภาวะเลือดเป็นกรด เป็นอันตรายและเสียชีวิต แต่หากได้รับในปริมาณไม่มากและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทัน ก็สามารถรักษาด้วยการให้น้ำเกลือแร่ ร่วมกับกินหรือฉีดกลูโคสได้
“กรณีที่มีการระบุว่ากินลิ้นจี่ตอนท้องว่างทำให้เกิดอันตรายจากสารนี้ เป็นเพราะเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้กินอาหาร ร่างกายก็ไม่มีกลูโคสและไม่มีอาหารไปสร้างพลังงานให้กับร่างกายเป็นทุนอยู่แล้ว จึงใช้พลังงานจากลิ้นจี่เพียงอย่างเดียว ก็ส่งผลต่อร่างกายดังที่กล่าว” รศ.ดร.รัชนี กล่าว
รศ.ดร.รัชนี กล่าวว่า สำหรับคนไทยไม่ต้องไปกังวล หรือตื่นตูมกับเรื่องนี้มาก เพราะเมืองไทยคนไม่ได้ขาดสารอาหาร ร่างกายยังสามารถสร้างกลูโคสได้ และไม่นิยมกินลิ้นจี่ที่เป็นผลดิบ ที่มีวางขายในท้องตลาดจะเป็นผลที่สุกแล้ว ซึ่งปริมาณสารไฮโพไกลซินจะมีน้อยมาก หรือแม้คนไทยจะเผลอกินผลดิบไป 2 - 3 ผลก็ไม่เป็นไร ที่น่ากังวลคือการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงในลิ้นจี่มากกว่าที่ควรนำไปสู่การแก้ปัญหา ดังนั้น ก่อนนำมากินควรทำความสะอาดให้ดี ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของลิ้นจี่จะมีน้ำสูง มีวิตามินต่างๆ มีน้ำตาลที่เป็นธรรมชาติ มีไฟโตนิวเทรียนท์ และมีสารที่ทำให้มีรสขมและเฝื่อน มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ในประเทศไทยยังไม่เคยพบรายงานการเสียชีวิตจากการกินลิ้นจี่ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับรายงานข่าวดังกล่าว ขอให้ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เพราะข้อมูลวิชาการที่มีในปัจจุบัน ชี้ว่า ลิ้นจี่ที่สุกงอมแล้ว สามารถกินได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ประชาชนกินในปริมาณที่พอดี ไม่มากจนเกินไป ไม่กินตลอดทั้งวันแทนอาหาร และไม่ควรกินในขณะท้องว่าง โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น ขาดสารอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการกินลิ้นจี่ผลดิบและเมล็ดลิ้นจี่ เพราะอาจมีความเสี่ยงตามที่ปรากฏในวารสารดังกล่าว