xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 5 ขั้นตอนบี้บริษัทรับผิดชอบ หลังซื้อ “น้ำผลไม้กล่อง” แล้วเจอเชื้อรา!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ซื้อ “น้ำผลไม้กล่อง” แล้วเจอ “เชื้อรา” จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทอย่างไร? มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะ 5 ขั้นตอนจัดการจี้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ

จากกรณีศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่งที่ จ.ระนอง ได้ซื้อน้ำส้มและน้ำสับปะรดยี่ห้อหนึ่งจากห้างชื่อดังของจังหวัด เมื่อเทน้ำสับปะรดใส่แก้วเพื่อดื่ม กลับเจอสิ่งแปลกปลอมที่มีลักษณะเป็นฝ้าลอยอยู่ในน้ำผลไม้ ต่อมาได้แกะกล่องออกก็พบว่ามีเชื้อราเป็นแผ่น คล้ายกับกระดาษแข็งที่เปียกน้ำอยู่ด้านในกล่อง จึงส่งเรื่องร้องเรียนมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยติดต่อกับบริษัทเจ้าของน้ำผลไม้ดังกล่าว เพื่อขอให้บริษัทตรวจสอบถึงสาเหตุของเชื้อรา และแจ้งผลว่า เชื้อราดังกล่าวเป็นอันตรายกับผู้บริโภคหรือไม่ โดยปัจจุบันเรื่องยังอยู่ในกระบวนการตรวจพิสูจน์ของทางบริษัทนั้น

น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การพบสิ่งแปลกปลอมลักษณะเป็นก้อนหรือแผ่นสีดำปนขาวลอยปะปนอยู่ในน้ำผลไม้บรรจุกล่องนั้น ส่วนมากที่ตรวจพบมักเป็นเชื้อรา ซึ่งมีสาเหตุจากการผลิตที่ไม่สะอาด กล่องมีรอยรั่วขนาดเล็กที่มองไม่เห็น ทำให้อากาศเข้าไปทำปฏิกิริยาภายในกล่อง จนเกิดเชื้อราได้ ทั้งนี้ เชื้อราหรือจุลินทรีย์ดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการป่วย โดยสังเกตว่า เมื่อได้รับเชื้อภายใน 1-48 ชั่วโมง จะมีอาการดังต่อไป ได้แก่ ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ร่วมด้วย ซึ่งการผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่เสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหารและยา พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) เรื่อง อาหารไม่บริสุทธิ์ หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามมาตรา 58 ว่าต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากสถิติ
เรื่องร้องเรียนของมูลนิธิ เรื่องอาหารปนเปื้อนหรืออาหารไม่บริสุทธิ์ ของหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในปี 2558 มีผู้ร้องเรียน 21 ราย หรือ 67.74% และในปี 2559 มีผู้ร้องเรียน 20 ราย คิดเป็น 68.97% จากสถิติดังกล่าว ประมาณ 2% จะเป็นกรณีร้องเรียนเรื่องน้ำผลไม้บรรจุกล่อง โดยพบปัญหาคล้ายกัน คือ เป็นฝ้าสีดำหรือขาวลอยอยู่บนผิวน้ำ และเมื่อเปิดกล่องดูจะพบลักษณะเป็นแผ่นแข็งๆ สีน้ำตาลอ่อนจางๆ คล้ายหนังปลาอยู่ที่ก้นกล่อง ซึ่งพบว่าเป็นเชื้อราที่มีผลต่อสุขภาพ
จากกรณีข้างต้นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายควรจะต้องแก้ไขและคุมเข้มในทุกขั้นตอน ทั้งการผลิต จัดส่ง จัดเรียงสินค้า เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาซ้ำๆ แบบเดิมและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ กล่าว

“หากผู้บริโภคพบสิ่งแปลกปลอมในน้ำผลไม้กล่องหรือสินค้าอื่นควรทำดังนี้ 1. ถ่ายรูป (ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต - วันหมดอายุ และตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้า และใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ควรถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย) 2. หากร่างกายมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์และขอใบรับรองแพทย์เพื่อเก็บหลักฐานยืนยัน 3. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน 4. ทำหนังสือถึงบริษัทพร้อมแนบสำเนาหลักฐานทั้งหมดและแจ้งความประสงค์ของเรา ว่า ต้องการให้ทางบริษัทดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาพร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น 5. หากบริษัทดังกล่าวเพิกเฉยให้ติดต่อร้องเรียนได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 02-248-3734 หรือทางสายด่วน อย. 1556” นางนฤมล กล่าว

นางนฤมล กล่าวว่า ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคเวลาซื้อน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่บรรจุกล่อง ให้ปฏิบัติดังนี้ 1. เลือกซื้อกล่องที่มีสภาพดี ไม่บุบหรือชำรุด 2. รับประทานโดยการเทใส่แก้วเพื่อสังเกตสิ่งแปลกปลอมในเบื้องต้น 3. เมื่อเปิดกล่องแล้วควรเก็บในตู้เย็นและไม่ควรบริโภคเกิน 5 วัน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรรักษาสิทธิของตนเอง หากพบเจอความผิดปกติใดๆ เกี่ยวกับสินค้า หรือบริการควรดำเนินการรักษาสิทธิ หรือร้องเรียนกับหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ผู้ผลิตรวมไปถึงผู้จัดจำหน่าย ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดกับประชาชนจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น