อย. ร่วม บก.ปคบ. ทลายแหล่งลักลอบขาย “ยาแก้ไอเถื่อน” ผสมทรามาดอล 3 จุด ย่านคลองสามวา - หนองจอก ยึดของกลางรวมกว่า 1.5 ล้านบาท เบื้องต้นแจ้ง 6 ข้อหาเอาผิดแล้ว
วันนี้ (2 ก.พ.) ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ศูนย์ราชการฯ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับ บก.ปคบ. แถลงข่าว “ทลายแหล่งลักลอบขายยาแก้ไอเถื่อนผสมทรามาดอล” ว่า จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทราบว่า มีขบวนการลักลอบจำหน่ายยาแก้ปวดผสมกับยาทรามาดอล ยาแก้ไอ และยาแก้แพ้รายใหญ่หลายแหล่งอยู่ในพื้นที่เขตคลองสามวา มีนบุรี และ หนองจอก โดยมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายยาแก้ปวดผสมยาทรามาดอล ยาแก้ไอ และ ยาแก้แพ้ ให้กับเยาวชน และส่งขายในพื้นที่แถบภาคใต้ ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา อย. และ บก.ปคบ. จึงได้นำหมายค้นศาลจังหวัดมีนบุรี เข้าตรวจค้น 3 จุด ได้แก่ 1. ร้านยาบ้านขวัญ ฟาร์ม่า เลขที่ 35/8 ถนนเลียบคลองวารี แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 2. อาคารพาณิชย์ติดกับร้านยาบ้านขวัญ ฟาร์ม่า ถนนเลียบคลองวารี แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และ 3. ร้านดีแอนด์ดี ฟาร์ม่า เลขที่ 19/2 ถนนราษฎร์ร่วมใจ แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า ผลการตรวจค้นพบของกลางจำนวนมาก ได้แก่ 1. ยาแก้ปวด (ทรามาดอล) จำนวน 46,300 แคปซูล 2. ยาแก้ไอและยาแก้แพ้ ชนิดน้ำ จำนวน 10,000 ขวด 3. ยาแก้ไอ ชนิดเม็ด จำนวน 5,800 เม็ด และ 4. ยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 7,600 เม็ด รวมของกลาง 4 รายการ มูลค่า 1,500,000 บาท เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาดังนี้ 1. ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษขณะที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไม่อยู่ มีโทษปรับ 1,000 - 5,000 บาท 2. ขายยาแผนปัจจุบันนอกเวลาทำการมีโทษปรับ 2,000 - 10,000 บาท 3. ผู้ขาย (ขายยาแผนปัจจุบัน) โดยไม่จัดทำบัญชียา มีโทษปรับ 2,000 - 10,000 บาท 4. ผู้ขาย (ขายยาแผนปัจจุบัน) โดยขายยาที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับ 2,000 - 10,000 บาท 5. เก็บยานอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับ 2,000 - 5,000 บาท 6. ขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า อย. มีมาตรการควบคุมการจำหน่ายยาแก้ไอ ที่มีไดเฟนไฮดรามีน หรือ โปรเมทาซีน หรือ เดกซ์โตร - เมธอร์แฟน เป็นส่วนประกอบ เพื่อป้องกันมิให้กลุ่มวัยรุ่น หรือบุคคลใดก็ตามนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยจำกัดปริมาณการจำหน่ายจากผู้ผลิตไปยังร้านขายยาไม่เกิน 300 ขวดต่อแห่งต่อเดือน และจำกัดการขายประชาชน ไม่ควรจ่ายยาเกินครั้งละ 3 ขวด เพื่อป้องกันนำไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ ส่วนกรณียาอันตราย “ทรามาดอล” อย. ให้จำหน่ายยาเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการการแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ ไม่เกิน 20 เม็ด/แคปซูลต่อรายต่อครั้ง และให้เภสัชกรประจำร้านเป็นผู้ส่งมอบยาแก่ผู้มารับบริการ ที่สำคัญ ห้ามจำหน่ายยาให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปีทุกกรณี รวมทั้งผู้รับอนุญาตและเภสัชกรร่วมกันจัดทำบัญชีซื้อยา และบัญชีการขายยา หากร้านขายยาใดฝ่าฝืน นอกจากดำเนินคดีแล้ว จะถูกเสนอคณะกรรมการยาพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตขายยาด้วย