กรมอนามัย ชี้ “เด็กไทย” แนวโน้มอ้วนเพิ่มขึ้น มีกิจกรรมทางกายน้อย เผยผลจัดกิจกรรมโชป้าฯ นำร่องใน 200 กว่าโรงเรียน เน้นยืดเหยียด - ออกกำลังกาย - สร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อ ช่วยนักเรียนสุขภาพดีขึ้น น้ำหนักลดลง ส่วนสูงเพิ่มขึ้น จับมือ สพฐ. เตรียมขยายผลกว่า 7,700 โรง ในปี 2560
วันนี้ (2 ก.พ.) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นพ.ชัยพร พรหมสิงห์ ประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย พร้อมด้วยนายพะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ลงนามความร่วมมือ “การพัฒนาการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย วัยเรียน วัยรุ่น และการจัดการปัญหาเด็กอ้วน” โดย นพ.กิตติ ลาภสมบัติศิริ ผู้อำนวยการกองออกกำลังกาย กรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ภาวะอ้วนในเด็กวัยเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 12.5 ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.1 ในปี 2559 ขณะที่การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของเด็กไทยระหว่างปี 2555 - 2557 ในกลุ่มเด็กอายุ 6 - 14 ปี อยู่ที่ร้อยละ 63.8 และกลุ่มเด็กวัยรุ่นอายุ 15 - 24 ปี อยู่ที่ร้อยละ 65.1 เท่านั้น
“การจะลดปัญหาภาวะอ้วนและเพิ่มความสูงให้แก่เด็กวัยเรียน มี 3 ปัจจัย คือ 1. การออกกำลังกายที่เพียงพอ 2. การรับประทานอาการที่มีประโยชน์ และ 3. การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ซึ่งจากการที่รัฐบาลมีนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ กรมอนามัยจึงจัดโครงการโชป้า แอนด์ ชายด์ป้า เกมส์ ลดเรียน เพิ่มรู้ สู่อาเซียน เพื่อเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายในเด็กวัยเรียน โดยกิจกรรมของโครงการดังกล่าวจะมี 3 รูปแบบ คือ นวัตกรรมออกกำลังกายจิงโจ้ยืดตัว เพื่อช่วยเรื่องการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ช่วยเรื่องความอ่อนตัว และการยืดหยุ่นที่ดีของร่างกาย นวัตกรรมออกกำลังกายจิงโจ้ FUN For FIT จะเน้นการออกกำลังกายที่มีการกระโดด หรือมีการลงน้ำหนัก เพื่อกระตุ้นการเพิ่มความสูงให้เด็ก และนวัตกรรมออกกำลังกายเก้าอี้...ขยี้พุง จะเป็นการช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทุกๆ ส่วนของร่างกาย และจัดทำหลักสูตรพัฒนาบุคลากรทางสาธารณสุขและทางการศึกษา รวมถึงนักเรียน ให้เป็นโชป้าแอนด์ชายด์ป้าโคช จำนวน 293 คน” นพ.กิตติ กล่าว
นพ.กิตติ กล่าวว่า จากการนำร่องโครงการมาตั้งแต่ปี 2558 ในโรงเรียนจำนวนกว่า 200 แห่ง ครอบคลุมกว่า 40 จังหวัด พบว่า นักเรียนจำนวน 1,337 คน จาก 13 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด ซึ่งมีทั้งเด็กโชป้าฯ คือ มีน้ำหนักตัวเกิน หรือภาวะอ้วน และ เด็กชายด์ป้าฯ คือ เด็กสมส่วนและผอม มีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้น มีความสูงเพิ่มขึ้น น้ำหนักลดลง ร่างกายแข็งแรงขึ้น ยืดหยุ่นดีขึ้น ไขมันใต้ผิวหนังลดลง อาการภูมิแพ้และการเจ็บป่วยหลายอย่างดีขึ้น นอนหลับสนิทขึ้น มีสมาธิในการเรียนดีขึ้น ดังนั้น ในปี 2560 สธ. จะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมผลักดันโครงการให้ครอบคลุมโรงเรียนอย่างน้อย 7,700 แห่ง ครอบคลุมเด็กอย่างน้อย 770,000 คน เพื่อเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย ช่วยให้เด็กไทยสูงสมส่วน แข็งแรง ไอคิว และ อีคิวดี
นายพะโยม กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมสนับสนุนการแก้ปัญหาภาวะอ้วนและส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนมีสุขภาพที่ดี แข็งแรงสมส่วน ซึ่งนอกจากชั่วโมงพละศึกษาที่จะสอนเรื่องหลักการ หลักวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับกีฬาและออกกำลังกายแล้วนั้น การจะเพิ่มกิจกรรมทางกายให้นักเรียนนั้น ยังมีกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่แต่ละโรงเรียนสามารถนำมาปรับหรือจัดกิจกรรมเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายได้ ส่วนการลงนามในครั้งนี้ก็เพื่อจะสนับสนุนและส่งเสริมในการขยายผลโครงการโชป้าฯ ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนนำร่องแล้วกว่า 200 แห่ง ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น คิดว่าไม่น่าเป็นการเพิ่มภาระของโรงเรียน เพราะปกติก็มีการดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้วบ้าง รวมถึงมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาจัดกิจกรรมเหล่านี้ตามโรงเรียนแต่ละแห่งด้วย
เมื่อถามว่าโรงเรียนส่วนใหญ่นำกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้มาเน้นการสอนพิเศษ เพราะต้องการแก้ปัญหานักเรียนคะแนนโอเน็ตต่ำ นายพะโยม กล่าวว่า ตรงนี้โรงเรียนต้องบริหารจัดการให้ดีในการแบ่งสัดส่วนกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แต่อยากให้โรงเรียนให้ความสำคัญกับเรื่องการมีกิจกรรมทางกาย หรือการออกกำลังกายของนักเรียนด้วย เพราะเมื่อนักเรียนมีสุขภาพร่างกายที่ดี แข็งแรง สุขภาพกายก็ดี สุขภาพจิตก็ดี มีสมาธิในการเรียนมากขึ้น ก็ดีต่อเด็กทั้งเรื่องไอคิวและอีคิว เช่น ตอนเข้าแถวหน้าเสาธงตอนเช้าอาจจัดให้มีการออกกำลังกาย หรืออย่างที่นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้ออกกำลังกายทุกวันพุธ ก็นำมาปรับใช้ได้ เป็นต้น